วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน ชุดที่ 1

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน ชุดที่ 1

บรรยายโดย อาจารย์สุดใจ ชื่นสำนวน





การปล่อยวาง


ธรรมะ ในขั้นปล่อยวาง ก็คือการเห็นการเกิดขึ้นของอารมณ์ตามธรรมชาติ เห็นการปรุงแต่งไปตามกลไกของธรรมชาติ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวบังคับบัญชาธรรมชาตินั้นๆอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นตามกลไกของธรรมชาตินั้น มันก็เกิดซ้ำๆเช่นนี้มานานแล้ว และขณะนี้ก็ยังคงเกิดอยู่ และก็จะยังเกิดขึ้นไปอีกในอนาคตต่อๆไป
เบื่อบ้างไหม? กับอารมณ์ที่รุ่มร้อน วิตกกังวล หดหู่ หม่นหมอง มึนซึม ที่มันเกิดขึ้นกับเราซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า มานานเหลือเกินแล้ว ทำให้จิตเราหวั่นไหวขึ้นลงไปกับอารมณ์เหล่านี้ไม่เคยหยุดนิ่ง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งอยากสงบ ก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งอยากเลิกกังวล ก็ยิ่งคิดยิ่งกังวลไม่เคยหยุด อารมณ์ก็ยิ่งร้อนรุ่มทุรนทุราย จะหาความสงบไม่ได้เลยในภาวะนั้นๆ
เพราะเราห้ามมันไม่ได้ เราสั่งมันไม่ได้ มันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แต่เรารู้จักมันได้ เราเรียนรู้มันและเข้าใจมันตามที่มันเป็นนั่นแหละ ที่จะทำให้เราปล่อยวางมันได้ เพราะว่าเราอยู่ใกล้กับมันมานานเหลือเกิน และตอนนี้มันก็ยังอยู่กับเรา ถ้าคิดว่า ยังต้องอยู่กับมันไปอีกไม่รู้จะนานเท่าไรนั้น ถ้าต้องขึ้นลง วิ่งตามมันไปเรื่อยๆ แค่คิดก็เหนื่อยเหลือเกิน

เรามาลองปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นกันดูบ้าง ดังที่หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร) ท่านได้อุปมาอุปไมยไว้ว่า
 


อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้าย

ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่

มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน



เพราะอารมณ์ มันก็ต้องเกิดอย่างนั้นอยู่แล้ว ตามเหตุปัจจัย เราแค่ยืนดูอยู่ห่างๆ แม้มันจะยังเกิดขึ้นอยู่ แต่มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนแม่น้ำที่กำลังเชี่ยวกราก ถ้าเรายืนดูอยู่บนฝั่ง เราก็จะเห็นน้ำนั้นมันก็ไหลเชี่ยวไปเรื่อยๆ ปะทะกับสิ่งต่างๆ แล้วพัดพาสิ่งนั้นๆไปด้วย เมื่อเรายืนดูเราก็เห็น แต่ถ้าเผลอลงไปในน้ำนั้น แม้จะว่ายน้ำเป็นก็ยังคงต้องเปียกปอน เหน็ดเหนื่อยในการว่ายเข้าหาฝั่งอยู่ดี

 



ถ้าเรายังไม่รู้เท่าทันธรรมชาติของอารมณ์ ก็จะเข้าไปพยายามที่จะดับมัน ไม่ให้มันร้อนรน เศร้าหมอง และถ้าพยายามแล้วมันไม่ดับ ก็จะมีตัวเราเป็นผู้ทุกข์ตามอารมณ์นั้นๆ แต่ถ้ารู้ และเข้าใจในอารมณ์นั้นๆ ว่ามันก็เกิดเช่นนั้นเอง ไม่เข้าไปห้าม ไม่เข้าไปขวาง ไม่เข้าไปดับมัน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ ตัวเราผู้ทุกข์ก็ไม่มี แม้มันกำลังแสดงอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง วิตกกังวล ก็ดูความหดหู่เศร้าหมองวิตกกังวลนั้นตามที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่


แต่มิใช่ว่า เข้าใจแล้วอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง วิตกกังวล จะหายไปนะคะ มันไม่หายไปหรอกในขณะนั้น เพราะแม้เราเข้าใจกลไกการปรุงแต่งของมันแล้วก็ตาม แต่เพราะมันเกี่ยวเนื่องกันหลายส่วน แต่ละส่วนมันก็ทำงานตามกลไกของมัน เมื่อคิดกังวลแล้ว มันก็ต้องมีอารมณ์หดหู่เศร้าหมองวิตกกังวลตามสารเคมีนั้น แม้เราจะรู้จะเข้าใจ แต่ก็ยังมีละอองของภาวะอารมณ์ขณะนั้นมาครอบคลุมอยู่ดี จึงได้แต่มองเห็นภาวะอารมณ์ขณะนั้นๆ แต่ไม่ได้เป็นความทุกข์นั่นเอง





เหมือนเรารู้สึกร้อนๆหนาวๆคล้ายจะเป็นไข้ แต่ยังไม่ได้เป็น ก็กินยาแก้ไข้หวัด แล้วทำงานต่อ แต่ยานั้นมีผลทำให้เกิดอาการง่วงนอน เพราะฤทธิ์ของยามีอาการง่วงนอนร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น แม้เราจะไม่อยากนอน อยากทำงาน แต่เมื่อกินยาเข้าไปแล้ว สารเคมีออกฤทธิ์แล้ว ก็ทำให้เราง่วงนอน อยากนอน และต้องหลับในที่สุด แม้จะอยากหรือไม่อยากก็ต้องหลับอยู่ดีเพราะสารเคมีทำงานตรงไปตรงมา


คนที่ต้องผ่าตัด เมื่อเขาให้ดมยาสลบ แม้จะฝืนอย่างไรก็ต้องสลบอยู่ดี ร่างกายไม่สามารถต้านทานต่อสารเคมีที่มาทำปฏิกิริยากับกลไกในร่างกายได้

ดังนั้น ถ้าเราศึกษาให้ดี ดูให้ดี เรานำวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์วิจัยแล้ว มาประยุกต์ใช้เพื่อเรียนรู้ร่างกายของเรา ขันธ์ห้าของเรา อารมณ์ของเราที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ แต่ละนาทีแล้ว ก็จะเห็นกลไกที่ ทำไม? ธรรมะจึงบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อคิดเสียใจ อารมณ์ก็หดหู่ เศร้าหมอง มันรองรับกันตรงไปตรงมาตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดา



ถ้าเป็นแค่ผู้ดู ที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภาวะอารมณ์ในขณะนั้น ความหดหู่เศร้าหมอง ความเบื่อหน่าย ความห่อเหี่ยวใจ ที่เราคิดว่าเป็นความทุกข์ หรือแม้แต่ความพออกพอใจ ที่เราคิดว่าเป็นความสุขนั้น เมื่อดูก็จะเห็นว่ามันเป็นเพียงภาวะอารมณ์ลักษณะหนึ่ง กำลังดำเนินกลไกอยู่ในขันธ์ 5 ขณะนี้เท่านั้น และเมื่อเห็นมันจริงๆ อารมณ์เหล่านี้ก็ทำอันตรายเราไม่ได้เช่นกัน แม้มันจะยังคงแสดงอาการหดหู่เศร้าหมองเช่นนั้นอยู่ก็ตาม อย่างที่หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านได้อุปมาอุปไมยไว้ว่า


งูเห่า ก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น

ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมด

สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป

สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป

เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น

ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป

มันก็เลื้อยไปทั้งที่มีพิษอยู่ในตัวมันนั่นเอง




ธรรมะ ก็คือธรรมชาติ การมองเห็นความเป็นธรรมชาติของขันธ์ห้าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ก็เพราะเข้าใจในกลไกของมันนั่นเอง
ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ในกระบวนการขันธ์ห้านั้น ก็เป็นธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่มีมุมมองที่กว้างขึ้นอีกในรูปแบบวิทยาศาสตร์ผสมผสานกันไปด้วย จึงเป็นในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ทางจิต ที่สามารถเข้าใจได้เป็นรูปธรรม คือมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุนกลไกของขันธ์ห้าที่ได้กล่าวไว้นั่นเอง

บางครั้ง การมองเห็นธรรมชาติตามความเป็นจริงนั้น ก็สามารถทำให้เราเข้าใจถึงกลไกของธรรมชาติ และไม่อยากที่จะไปบังคับบัญชาให้ธรรมชาติเป็นไปอย่างที่เราต้องการ

ธรรมชาติย่อมปรุงแต่งให้แต่ละบุคคล เป็นไปตามแต่ละเหตุปัจจัยนั้นๆที่เขาได้สะสมมา ไม่ได้มีใครจะอยากเป็นหรือไม่อยากเป็นเช่นนั้น




ดังนั้น การเกิดมาตามกรรม ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพราะเมื่อยังมีตัวตนของตนอยู่ สิ่งที่กระทำย่อมถูกเก็บไว้เพื่อประมวลผลต่อไป






เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อตั้งโปรแกรมบวกเลขไว้ แล้วเราก็ใส่ตัวเลขไปเรื่อยๆ +15 -28 +32 -16 +88 +90 -43 -2 17 +343 -51 +8... แล้วบันทึกต่อไปเรื่อยๆ เมื่อกดให้คำนวณยอดสุทธิของข้อมูลตัวเลขที่ประมวลผลออกมาได้เท่าไร จะเป็นบวก หรือติดลบ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็รายงานออกมาถูกต้องตามนั้น เราก็เช่นกัน เมื่อยังมีความเป็นตัวเรา ของเราอยู่ การบันทึกกุศล หรืออกุศลเข้าไว้ เมื่อประมวลผลออกมาอย่างไร กลไกของธรรมชาติก็ย่อมจัดสรรให้ไปอยู่ในแบบฟอร์มขันธ์ห้านั้นๆ ตามการประมวลผลออกมานั่นเอง แบบฟอร์มอะไร? ทำไมต้องมีแบบฟอร์มขันธ์ห้า

..............................




แบบฟอร์มขันธ์ห้า


กลไกของธรรมชาติก็มีการจัดสรรกำหนดกฎเกณฑ์เป็นแบบฟอร์มขันธ์ห้าขึ้นมา แบบฟอร์มแต่ละแบบฟอร์มนั้นจะมีความเหมือนกันในแต่ละแบบฟอร์ม ดังตัวอย่างเช่น




แบบฟอร์มขันธ์ห้าของนกแก้ว แบบฟอร์มนี้มีสองขา มีปีกสีเขียว จะมีลักษณะบินได้และพูดได้ถ้ามีการสอนให้พูดแบบฟอร์มของนกยูง มีปีกแต่บินไม่ได้ มีสีสันสดใส หางลำแพนสวยงาม แต่สอนให้พูดไม่ได้แบบของปลาฉลาม จะมีลักษณะดุร้าย กินปลาเล็กๆเป็นอาหาร

แบบฟอร์มของปลาทู จะไม่ดุร้าย จะตกเป็นอาหารของปลาต่างๆ จึงมีการอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ การว่าย การแสดงออกจะเหมือนๆกัน

แบบฟอร์มของลิง ของแมลง ของเต่า ของกระต่าย ของอะไรก็ตามก็จะมีลักษณะเฉพาะของแต่ละแบบฟอร์มแตกต่างกันไป



ดังนั้น เมื่อการประมวลผลของการบันทึกไว้ออกมาเป็นเช่นไร ถ้าผลของการประมวลผลออกมาไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์แต่เข้าได้กับแบบฟอร์มไหน ก็จะต้องไปยังแบบฟอร์มนั้น

สมมุติว่า สร้างอกุศลมากกว่า แล้วได้แบบฟอร์มปลาทู เมื่อเข้าไปอยู่ในแบบฟอร์มนั้นแล้ว ก็ต้องคิดรู้ทำไปตามแบบฟอร์มนั้นเลยเพราะมันมีแค่ชั้นเดียว คือมีแค่การทำตามสัญชาตญาณเท่านั้น เมื่อออกมาเป็นลูกปลาก็ต้องเอาตัวรอดตามสัญชาตญาณ เมื่อโตขึ้นมาก็เข้าไปในฝูงแหวกว่ายไปหาอาหารตามกลุ่มของปลา เมื่อฉลามมาสัญชาตญาณเอาตัวรอดก็ว่ายหนี แล้วมารวมฝูงกันใหม่ ก็เป็นอยู่อย่างนี้ตามแบบฟอร์ม จะไม่มีการคิดได้ว่าจะรวมกันสู้ฉลาม จะฉลาดรู้เท่าทันไม่ว่ายไปเข้าอวนที่มนุษย์วางไว้เพราะแบบฟอร์มนี้ไม่ได้มีไว้ให้คิดซับซ้อนได้ จึงมีการคิดได้แค่ชั้นเดียวคือเป็นไปตามสัญชาตญาณของแบบฟอร์มนั้นๆ

ดังนั้น ถ้าตอนเป็นมนุษย์ แม้คนๆนั้นจะเก่งกล้าสามารถ เป็นใหญ่เป็นโตไม่กลัวใคร สร้างสิ่งไม่ดีไว้มากมายแต่ถ้าผลที่ส่งไปลงแบบฟอร์มของปลาทูแล้วแบบฟอร์มนั้นคิดรู้ได้ตามสัญชาตญาณเท่านั้น แบบฟอร์มปลาทูขี้กลัวเมื่อไปอยู่ในแบบฟอร์มนั้นก็ต้องขี้กลัวไปด้วยตามแบบฟอร์มที่ธรรมชาติออกแบบไว้แล้ว




มดที่เราเห็นเดินกันเป็นแถวๆนั้น เมื่อไปเกิดในแบบฟอร์มนั้นก็ต้องเดินเป็นแถวๆตามกันไป ไม่มีการที่จะคิดว่าฉันนอนดีกว่าจะเดินตามเขาไปทำไม จึงคิดรู้ได้ตามสัญชาตญาณของแบบฟอร์มนั้นเท่านั้น

แม้ก่อนตายจะเป็นคนรวดเร็วว่องไวทำงานเก่ง แต่มีด้านอกุศลมากกว่า หากเมื่อละขันธ์มนุษย์ไปการประมวลผลส่งไปอยู่ในแบบฟอร์มของเต่า แบบฟอร์มนั้นเชื่องช้า คลานไปเรื่อยๆ ต้วมเตี้ยมๆ เขาก็ต้องต้วมเตี้ยมตามแบบฟอร์มนั้น ตามสัญชาตญาณของเต่านั่นเอง จะไม่มีการคิดได้ว่า ไม่เอาแล้ว วิ่งดีกว่า เบื้อเดินช้าๆ เบื่อนอนในน้ำ เบื่อ ฯลฯ ไม่สามารถคิดรู้ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามแบบฟอร์มนั้นในส่วนมาก

แต่สำหรับมนุษย์ก็เป็นแบบฟอร์มขันธ์ห้าเช่นกัน แต่แบบฟอร์มนี้มีลักษณะพิเศษมากกว่าแบบฟอร์มอื่นๆ มีความซับซ้อน มีคุณสมบัติคิดรู้ได้เอง ดังนั้น จึงเรียกว่า สัตว์ประเสริฐ เพราะเป็นแบบฟอร์มที่นอกจากจะมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติแล้ว ยังสามารถมีปัญญาคิดรู้ได้ที่นอกเหนือไปจากแบบฟอร์มอื่นๆ คือมีสติยั้งคิด มีการพิจารณา มีการไตร่ตรอง มีการควบคุมอารมณ์ที่เกิดตามสัญชาตญาณ ดังนั้น จึงสามารถที่จะพิจารณาธรรมและบรรลุธรรมได้


ดังนั้น การที่จะเกิดมาได้แบบฟอร์มของมนุษย์นั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก

การมองให้เห็นกลไกตามธรรมชาตินั้น ก็ต้องมองให้รอบ มองให้เห็นความเป็นธรรมดาของกลไกของสัตว์เหล่านั้นด้วย จิ้งจกมันก็เกิดมาอยู่ในแบบฟอร์มของมัน มันต้องกินแมลงมันต้องอยู่ตามบ้านเราเพราะรอกินแมลง เรารำคาญอยากไล่มันเราก็ทำได้แต่ถ้ามันมาอีกเราก็ไล่อีก มันมาอีกเราโมโห ความทุกข์ก็เป็นของเรา ความพยาบาทที่จะทำร้ายมันก็ถูกบันทึกไว้ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำก็บันทึกไปเรียบร้อยแล้วตามเจตนา ตามความคิดที่เรายึดว่าเป็นผู้คิดนั่นเอง

แมลงเม่า เมื่อมีไฟที่ไหนมันก็พากันบินเข้าไป แล้วมันก็ตายกันเป็นฝูงๆ เมื่อเรามองดูเราก็ปลงสังเวชที่มันพากันบินเข้าไปตาย แต่เมื่อมันอยู่ในแบบฟอร์มนั้นมันไม่สามารถคิดได้ว่าอย่าเข้าไปในไฟเลยเดี๋ยวตาย แต่แบบฟอร์มนั้นมันก็ทำตามสัญชาตญาณของแบบฟอร์มเท่านั้น เกิดปัญญาคิดรู้ไม่ได้

ดังนั้น การที่ไปเกิดเป็นสัตว์ต่างๆนั้น ก็เป็นการเกิดมาใช้กรรม ที่ว่าเกิดมาใช้กรรม ก็เพราะไม่สามารถที่จะคิดรู้ พาตัวเองออกจากความทุกข์ได้ ก็ทำไปตามสัญชาตญาณเท่านั้น เป็นนก ออกจากไข่แล้ว ก็หัดบิน ออกไปหากิน มีสัญชาตญาณเอาตัวรอดจากภัย สืบพันธุ์ ออกไข่ เลี้ยงลูก แล้วก็ตาย
วัฏจักรของนกก็มีแค่นี้ เกิดมาแต่ละชาติก็เท่าเดิม ก็คือเกิดแค่ไหน ก็ตายแค่นั้น เพราะไม่มีความคิดซับซ้อนให้เกิดปัญญาได้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแบบฟอร์มไปยังแบบฟอร์มอื่นๆ ที่มีกลไกซับซ้อนมากขึ้นไปอีกเท่านั้น
(หมายเหตุ) ที่กล่าวมานี้เป็นแบบฟอร์มขันธ์ห้าของสัตว์ตามธรรมชาติที่เห็นกันทั่วๆไป มิได้กล่าวรวมถึงการอธิษฐานจิตมาสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติภพที่ผ่านมา ที่ท่านมีปัญญาไตร่ตรองและคิดรู้ได้ตามการอธิษฐานจิตนั้นๆดังนั้น การที่จะมองเห็นธรรมชาติ แล้วปล่อยวางตามความเป็นจริงนั้นต้องเข้าใจในหลายๆเรื่อง และมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสรรพสิ่ง



แบบฟอร์มของเสือ เกิดมาต้องดุร้าย กินสัตว์เป็นอาหาร เมื่อจิตที่เข้ามาอยู่ในแบบฟอร์มนี้ คิดอะไร ก็ทำไปตามนั้น เมื่อหิวสัญชาตญาณก็ต้องหาอาหาร ก็ต้องไปล่าสัตว์ เมื่อเห็นกวางก็ต้องคิดจะฆ่ากวางตามสัญชาตญาณ แล้วดำเนินการตามที่คิด นั่นคือสัญชาตญาณหากินตามธรรมชาติ

แบบฟอร์มของมนุษย์ เมื่อหิวหันไปเห็นคนกำลังกินข้าวในร้าน อยากเข้าไปแย่งอาหารนั้น แต่มีสติยั้งคิดมีการไตร่ตรองก่อน ดังนั้นความหิวจึงไม่สามารถผลักดันให้มนุษย์ทำในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้องได้เพราะมีความคิดอีกด้านหนึ่งที่ซับซ้อนกว่าสัญชาตญาณ มาคอยขวางกั้นการทำตามอารมณ์นั้นๆอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง

แต่ไม่ใช่ไปมองว่าเสือผิดที่คิดแล้วก็ไปล่ากวางกินเป็นอาหาร แต่เพราะเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่ในแบบฟอร์มนั้น กวางก็อยู่ในแบบฟอร์มที่ต้องคอยระวังตัว คอยหนีตลอดเวลาเมื่อแบบฟอร์มนั้นมีสัญชาตญาณหนีอย่างเดียว ตอนเป็นมนุษย์เคยกล้าไม่กลัวใครถ้าไปอยู่แบบฟอร์มกวางก็จำไม่ได้ ก็ต้องคิดไปตามกลไกของแบบฟอร์มนั้น







ดังนั้น การมองเห็นว่าหมาน่ารักแมวน่ากอด หนูน่าเกลียด จิ้งจกน่าเบื้อ งูน่ากลัว ไส้เดือนน่าขยะแขยง นั้นก็เป็นการมองที่ไม่เข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติ จึงมีความเห็นที่ไม่เท่าเทียมกัน

สัตว์ต่างๆมันก็ไม่สามารถเลือกเองได้ว่ามันไม่อยากเป็นหมา ไม่อยากเป็นแมว ไม่อยากเป็นหนู ไม่อยากเป็นกิ้งกือไส้เดือน แต่เมื่อวิบากส่งไปลงในแบบฟอร์มขันธ์ห้านั้นแล้ว เขาก็ต้องไปตามแบบฟอร์มนั้น แบบฟอร์มแมวน่ารัก ขี้ประจบ เขาก็เล่นไปตามกลไกของแบบฟอร์มนั้น แบบฟอร์มนั้นจึงมีขนสวย น่ารัก สะอาด ประจบเก่ง

แบบฟอร์มหนู ชอบลักขโมย ชอบคุ้ยเศษอาหาร สกปรก แบบฟอร์มนั้นจึงมีขนสีดำหรือทึมๆ หางแหลมน่าเกลียด เพราะต้องอยู่ในท่อสกปรก เราเห็นก็รังเกียจเหมือนกันหมด

มดชอบขึ้นอาหาร มดกี่ตัวกี่ตัวเดินเรียงแถว จะมารุมกินแต่เศษอาหารที่ทิ้งไว้ ก็เพราะแบบฟอร์มเขาเป็นอย่างนั้น จมูกได้กลิ่นไกลมากและมาเป็นขบวน ซึ่งเขาอยู่ในแบบฟอร์มนั้นๆก็ไม่สามารถเลือกได้ ต้องเป็นไปตามกลไกของแบบฟอร์มนั้น



แม้แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถเลือกเองได้เช่นกัน ดังนั้น ทำไมจึงต้องสร้างกุศล สร้างบารมีไปเรื่อยๆ เพราะในขั้นที่ไม่สามารถปล่อยวางขันธ์ห้าได้ยังมีตัวตนของตนอยู่นั้น การที่จะบันทึกสิ่งใดเข้าไป ก็ควรที่จะบันทึกในสิ่งที่เป็นกุศลดีกว่า เพื่อป้องกันการไปอยู่ในแบบฟอร์มที่ไม่สามารถคิดรู้ได้เองเหล่านั้นความจริงทุกสิ่งมันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละตามกลไกของธรรมชาติ แต่เราก็เลือกที่จะอยู่กับสิ่งใดๆก็ได้ แต่อย่าได้ไปยึดว่าสิ่งนี้ดีกว่าสิ่งนี้ เรารักแมวก็อยู่กับแมวไป ถ้าสุนัขมันวิ่งไล่แมวเรา ก็ต้องรู้ว่าสัญชาตญาณของสุนัขมันเป็นอย่างนั้นนั่นเอง เราก็ช่วยแมวไปตามเรื่อง ตามความเมตตาเท่าที่ทำได้ แต่การที่จะไปขุ่นแค้น อาฆาต แล้วฆ่าสุนัขตัวนั้น ก็เพราะเราเห็นว่าสิ่งนี้เรารัก สิ่งนี้เราเกลียด เราต้องกำจัดสิ่งที่เราเกลียดไป แต่ถ้าแมวเราไปไล่จับหนูก็ต้องรู้ว่าสัญชาตญาณมันเป็นอย่างนั้นเอง เราก็ช่วยหนูไปตามเรื่องตามความเมตตาที่เรามี ไม่ใช่ไปโกรธแค้นแมวเราเพิ่มอีก หาว่าเราก็เลี้ยงอาหารอย่างดีแล้วก็ยังไปกินหนูอีก ซึ่งสิ่งนี้เป็นกลไกของแบบฟอร์มของมัน ซึ่งก็ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกเช่นกัน เพราะมันเป็นธรรมชาติของแต่ละแบบฟอร์มนั่นเอง

นกต้องจิกกินหนอน ไก่ต้องกินไส้เดือน งูต้องกินกบกินเขียด เราไม่สามารถไปช่วยสัตว์เหล่านั้นได้ทั้งโลก แต่ถ้าสิ่งนั้นเราสามารถช่วยเหลือได้ มาเกิดตรงหน้าเรา เรามองเห็น ก็ช่วยกันไปตามธรรมดา ตามความเมตตากรุณาที่มีอยู่ แต่บางสิ่งที่ไม่สามารถช่วยได้ ก็ต้องปล่อยวาง ต้องเห็นความเป็นไปของธรรมชาติ จิตจะได้ไม่ไปหดหู่เศร้าหมองกับธรรมชาติเหล่านั้น
ก็เป็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่งของการเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ เราจะได้ไม่ไปมีอคติกับสิ่งใดๆรอบตัว ที่อันนี้ชอบ อันนี้ไม่ชอบ รักแมว เกลียดหมา รักนก เกลียดหนู หรือมองเห็นสิ่งนี้ ดีกว่าสิ่งนี้ ทำให้จิตของเราโอนไหวไปตามความเห็นที่เอียงไปในด้านใดด้านหนึ่งนั่นเองแบบฟอร์มขันธ์ห้า เป็นภาษาเรียกที่อาจไม่คุ้นเคย แต่ระบบที่ได้มาอธิบายกลไกของธรรมชาติได้นำมากล่าวไว้ ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็สามารถเข้าใจในกลไกของธรรมชาติในอีกรูปแบบหนึ่ง ก็ขอนำมาเล่าเพิ่มเติม เพื่อบางท่านที่ได้สนใจเรื่องของขันธ์ห้า จะได้นำไปเทียบเคียงกับธรรมะที่ว่า การเกิดมาตามกรรม นั่นเองมุมมองของธรรมชาติ เป็นมุมมองที่สอนให้เราเข้าใจธรรมชาติที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่ตามสิ่งที่มันเป็น ไม่ได้สอนให้ไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้เป็นอย่างที่เราต้องการ




ทฤษฎีแห่งความสัมพันธ์







ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามความหวังของใคร
สร้างเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลนั้นๆเถิด โดยไม่ต้องสร้างความหวัง

จากหนังสือ “ฝนประปราย”



ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติ ต่อให้ดัดแปลงอย่างไร สุดท้ายมันก็คืนสู่ธรรมชาติ โทรศัพท์ ทีวี คอมพิวเตอร์ ดัดแปลงให้สะดวกสบาย ใช้ได้ทันสมัยขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องกลับคืนไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อย่างเดิมก่อนที่จะถูกปรุงแต่งอยู่ดี



ดังนั้น การที่จะเข้าใจธรรมชาติได้ ก็ต้องเห็นธรรมชาติที่มันมีวิวัฒนาการของมันเองไปเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อมีเกวียน ก็ต้องมีรถ เมื่อมีรถ ก็ต้องมีเครื่องบิน เมื่อมีเครื่องบินก็ต้องมีเทคโนโลยีด้านอวกาศไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนอยู่ถ้ำ ก็เริ่มมีบ้าน ก็เริ่มมีตึกไปเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะอยู่กับธรรมชาติที่มันถูกปรุงแต่งไปเรื่อยๆ
แต่การอยู่โดยเข้าใจธรรมชาตินั้น ก็ต้องเห็นมันเป็นอย่างนั้นเองของมัน อย่าไปตั้งความหวังว่าจะต้องเป็นอย่างโน้น อย่างนี้อย่างที่เราต้องการ เพราะถ้าตั้งความหวังเมื่อไร ความผิดหวังก็รออยู่แล้วเมื่อนั้น อย่างเช่นเราอยากปลูกดอกไม้ หว่านเมล็ดดอกดาวเรืองลงในดิน หวังจะให้ดอกดาวเรืองขึ้นมาเต็มพื้นที่ออกดอกสีเหลืองสวยงาม แล้วเราก็เฝ้าลดน้ำลงไป แต่ว่ากลับมีต้นไม้อื่นงอกขึ้นมาพร้อมๆกับต้นดาวเรืองเต็มไปหมด ซึ่งเราก็ย่อมไม่พอใจ เพราะต้องคอยมานั่งถอนต้นหญ้าออกจากต้นดาวเรือง ทำไมไม่มีแต่ต้นดอกดาวเรืองเท่านั้น ฉันต้องการแต่ดอกดาวเรืองเท่านั้น ฉันไม่ได้ต้องการต้นหญ้า ฉันไม่ได้หว่านแกลงไป แกขึ้นมาทำไม
ถ้าถอนต้นหญ้าไป โมโหไป อารมณ์หงุดหงิดขุ่นมัวไป นั่นเพราะความไม่เข้าใจในธรรมชาติ ก็ทำให้อุปาทานว่าต้นดอกดาวเรืองของเรา แต่ต้นหญ้าไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้ เกิดขึ้นมา
แต่ธรรมชาติมันไม่ได้สนใจว่าเราจะสุขหรือทุกข์เพราะมัน ต้นหญ้าที่มันมีพันธุ์ฝังอยู่ในดิน เมื่อมีเหตุปัจจัยเหมาะสม มีน้ำ มีแดด มีองค์ประกอบพร้อมมันก็งอกขึ้นมาตามกลไกของมัน มันอาจจะงอกงามได้เร็วมากกว่าต้นดาวเรืองด้วยซ้ำ คนที่ต้องการแต่ต้นดาวเรืองเท่านั้น ที่จะมีโอกาสสุข หรือทุกข์กับต้นหญ้าส่วนเกินเหล่านี้ ถ้าต้องถอนหญ้าไป แล้วโมโหไป ขุ่นมัวไป อารมณ์ก็หงุดหงิดขุ่นมัวเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจธรรมชาติก็ถอนต้นหญ้าตามที่มันขึ้นมา เพื่อไม่ให้ไปแย่งอาหารต้นดาวเรืองที่กำลังจะโตขึ้นมา ก็ทำงานนั้นด้วยอารมณ์ปกติ



งานที่ทำเท่ากันตามที่มันเป็นอยู่ แต่อารมณ์ไม่เท่ากัน

ธรรมชาติมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีการแบ่งแยก มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามกลไกที่มาปรุงแต่ง ดังนั้น การที่เรามองเห็นของสองสิ่งไม่เท่ากันนั้น ก็มีผลให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างของสองสิ่งเสมอ จึงมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเกิดขึ้นเสมอ มีการเปรียบเทียบเรื่อยไป คืออันนี้ดีกว่าอันนี้ อันนี้สวยกว่าอันนี้ อันนี้แย่กว่าอันนี้ อยู่ร่ำไปธรรมะก็สอนว่าอย่าไปเปรียบเทียบว่า เราดีกว่าเขา เขาดีกว่าเรา หรือเราเสมอเขา


เพราะเราจะเกิดการนำไปเปรียบเทียบระหว่างของสองสิ่งนั่นเอง เมื่อเขาดีกว่าเราก็ไม่พอใจ เมื่อเราดีกว่า เราก็เกิดความหยิ่งยโสโอหัง หรือถ้าเรากับเขาใกล้เคียงกัน หรือเสมอกัน เราก็จะอยากมีให้มากกว่าให้ดีกว่าอยู่นั่นเอง

ซึ่งจริงๆแล้ว มันไม่มีการเปรียบเทียบหรอก ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล ตามเหตุปัจจัยของเขาเท่านั้นเอง มันจึงไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน ไม่มีคนพอมีพอกินเกิดขึ้นจริงๆ แต่มันเป็นไปตามเหจุปัจจัยของแต่ละคนที่ผลักดันไปตามกลไกนั่นเอง

ธรรมชาติก็เช่นกัน ต้นดาวเรืองกับต้นหญ้า มันก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน ต้นมะม่วงกับต้นประดู่ก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน ชาวสวนชอบต้นมะม่วง นักอนุรักษ์ชอบต้นประดู่ นักท่องเที่ยวชอบดอกไม้สวยงาม แล้วแต่ใครชอบสิ่งไหน ในภูเขาทั้งลูก มีต้นไม้เต็มไปหมด ต้นสัก ต้นยาง ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นมะม่วง พุทรา ต้นไม้ใบหญ้ามากมาย ทุกต้นก็ขึ้นอยู่กันเองตามธรรมชาติ แต่ผู้ที่เข้าไปในป่านั้นต่างหาก ที่ต้องกระทบกระทั่งกับภาวะอารมณ์ของตนเอง ถ้านักท่องเที่ยวเดินเข้าไปในป่า เห็นดอกกล้วยไม้ก็ชอบใจ เห็นต้นหนามก็ไม่พอใจ นักอนุรักษ์ไปเห็นต้นสักก็พอใจ คนหาหน่อไม้เห็นต้นกอไผ่ก็พอใจเพราะเก็บหน่อไม้ได้ มันจึงอยู่ที่เหตุปัจจัยแต่ละคน



เด็กดูหนังการ์ตูนก็พอใจ แม่บ้านดูรายการอาหารก็พอใจ พ่อบ้านดูข่าวการเมืองก็พอใจ ในบ้านหลังเดียวกันยังมีความพอใจไม่เหมือนกัน นั่นเป็นเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล ไม่มีใครผิดใครถูก

ถ้าเราเห็นทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียว เป็นธรรมชาติ ก็จะไม่มีการแบ่งแยก จะเห็นว่ามันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ไปเที่ยวป่าหน้าฝนก็ต้องมีต้นไม้สีเขียวชุ่มชื่น เข้าป่าหน้าแล้งก็ต้องเห็นต้นไม้ยืนแห้งสีน้ำตาลเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไปครั้งแรกสวย ครั้งหลังแห้งแล้ง รู้สึกผิดหวัง เบื่อหน่าย ก็ต้องเห็นอารมณ์เบื่อหน่ายเป็นธรรมดาของการปรุงแต่งตามความคิดนั้น
ดังนั้น ถ้าเราสามารถมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติในสังคมยุคปัจจุบันได้ ก็จะทำให้สิ่งที่จะมากระทบอารมณ์ปรุงแต่งน้อยลง
ดอกกุหลายสีแดง กับสีชมพูก็เหมือนกันตามธรรมชาติ แต่ความรู้สึกเราชอบสีชมพู ดังนั้นเมื่อหาซื้อสีชมพูไม่ได้ มีแต่สีแดง ก็ไม่ชอบใจ หงุดหงิดใจ เพราะมีอุปาทานกับสีชมพูมากกว่า แต่ความจริงกุหลาบก็คือกุหลาบ จะสีอะไรมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง ตัวดอกกุหลาบเองสักแต่ว่าขึ้นมาตามเหตุปัจจัย มันไม่เคยสุขทุกข์ แต่คนไปอุปาทานกับมันต่างหากที่สุขได้ ทุกข์ได้ ถ้าเห็นว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ ก็จะเห็นความเป็นธรรมชาติมากขึ้น

เรามีโอกาสจะสุข ทุกข์กับสิ่งรอบข้างได้ตลอดเวลา รถมาช้าก็หงุดหงิด คนแน่นก็หงุดหงิด แดดร้อนก็หงุดหงิด ไปกินข้าวคนเยอะก็หงุดหงิด ถ้าเราเข้าใจว่า อ๋อ มันเลิกงานคนก็เยอะอย่างนี้แหละ ถนนสายนี้มันเล็กก็ติดอย่างนี้แหละ แดดออกมันก็ต้องร้อนอย่างนี้แหละ อย่างนี้เป็นต้น อย่าไปคิดว่ามีสองสิ่ง คือรถน่าจะติดน้อยกว่านี้ คนน่าจะน้อยกว่านี้ แดดน่าจะอ่อนกว่านี้ ความจริงมันก็เป็นของมันอย่างนี้ตามเหตุปัจจัย วันหยุดรถก็ไม่ติด คนบนรถก็ไม่แน่น เพราะเหตุปัจจัยมันเป็นวันหยุดที่ไม่มีคนอยากออกจากบ้านนั่นเอง

ก็เป็นมุมมองของธรรมชาติอีกมุมมองหนึ่ง ที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีการแบ่งแยกออกเป็นสอง เป็นสาม เพียงแต่มีสิ่งอื่นมาปรุงแต่ง จึงแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยเท่านั้นเอง


.....................


ความเป็นเช่นนั้นเอง
ในมุมมองของธรรมะ และวิทยาศาสตร์







แม้ปัจจุบัน มนุษย์โลกจะมีความเจริญทั้งสองด้าน แต่ส่วนใหญ่ จะต่างคนต่างมุมมองคิดในส่วนที่ตนเองรู้ และพยายามทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามนั้นซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร

คนปฏิบัติธรรมะก็ปล่อยวางด้วยวิธีการศึกษาด้านธรรมะ พิจารณาการเกิดดับของอารมณ์ ความรู้สึกว่าเป็นเช่นนั้นเอง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นอะไร

ส่วนในมุมมองของวิทยาศาสตร์อารมณ์ของคนเราก็ขึ้นอยู่กับสารเคมีในร่างกายมนุษย์ แพทย์ท่านนั้น จะสนใจธรรมะหรือไม่ก็ตาม แต่เขาก็รู้ว่ากลไกของร่างกายมนุษย์มันขึ้นอยู่กับสารเคมีในสมองต้องควบคุมความคิด ให้คิดแต่สิ่งที่รื่นรมย์ อย่าเครียดเพราะจะทำให้สารเคมีประเภทที่เกิดโทษต่อร่างกายหลั่งออกมา ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกิดความเครียดขึ้นได้ และหากคิดเรื่องวิตกกังวลอยู่อย่างเดียวซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสารเคมีหลั่งมากเกินไป ทำให้มีอาการเครียดรุนแรง ซึมเศร้ารุนแรง ก็ต้องจ่ายยาควบคุมสารเคมีในสมองให้อยู่ในสภาพที่สมดุล เพื่อลดอาการเครียดวิตกกังวล หรือความหดหู่เศร้าหมอง ที่บุคคลผู้นั้นกำลังเป็นอยู่ ดังนั้นแพทย์ก็จะเห็นว่าเป็น “เช่นนั้นเอง” ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์และก็ให้ยารักษาไปตามอาการนั้นๆ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มันเป็นธรรมชาติ เป็นกลไกของขันธ์ห้าของมนุษย์ ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกันทั้งสองด้าน คือทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และด้านจิตเพียงแต่อาจจะรู้กันคนละมุม คนละด้านเท่านั้น ดังนั้นจึงได้มีการอธิบายกลไกของร่างกายมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักอีกมุมมองหนึ่ง มุมมองของธรรมชาติที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และทางจิต ผสมกัน และเพื่อที่จะเห็นว่าขันธ์ห้ามันมีกลไกของมันเองตามธรรมชาติ เมื่อรู้จักขันธ์ห้าตามความเป็นจริงแล้วก็ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นอะไร เพราะเป็นกลไกอย่างนั้นเอง



ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ และพลังงานธาตุทางเคมีที่ประกอบกันอยู่ในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเราก็รู้ว่ามี ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ ประกอบกันอยู่ และมีธาตุรู้ (หรือที่เรียกว่าจิต) เป็นตัวขับเคลื่อน และธาตุหยาบทุกอย่างในร่างกายจะมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์หรือทางวงการแพทย์ทั้งหมดซึ่งเป็นชื่อของธาตุทางเคมี







การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนเกิด เป็นทารกแรกเกิด เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่หรือวัยชรา เซลล์ทั้งหลายก็ไม่ใช่เซลล์เดียวกัน เซลล์เดิมถูกเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนไปหมดแล้ว มีแต่เซลล์ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลานี่คือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทางธรรมะก็รู้ว่า  มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันแปรปรวนตลอดเวลา เมื่อมีเกิด ก็ต้องมีแก่ มีเจ็บ มีตาย เป็นธรรมดาซึ่งก็ถูกต้องทั้งสองด้าน

ทางวิทยาศาสตร์ ภายในสมองก็มีไฟฟ้า มีสารเคมี มีกลไกการทำงานที่สลับซับซ้อน ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ สบายกาย สบายใจ หรือไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่หลั่งออกมาตามความคิดที่เป็นตัวชักนำนั่นเอง 


ทางธรรมะ มีการปฏิบัติธรรมเพื่อควบคุมความคิด อารมณ์ให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นกุศล เพื่ออะไร? เพื่อเราจะได้ไม่มีความทุกข์ ซึ่งการคิดดี พูดดี ทำดี ก็จะทำให้ผู้นั้นมีความสุข เพราะมีความสงบเย็นอิ่มเอิบในจิตใจ แต่ถ้าพยาบาท มุ่งร้าย ผู้นั้นจะมีแต่ความทุกข์ ร้อนรนและหาวิธีแก้แค้นต่างๆ ซึ่งมันอยู่ในข่ายของความทุกข์ซึ่งมันต้องเป็น... อย่างนั้นเอง... อยู่แล้ว มันเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ

เพราะกลไกของร่างกายมนุษย์ มันจะอิงกันกับความคิด ความรู้สึกของมนุษย์ผู้นั้น

เมื่อมีความคิดดี มีความปรารถนาดี มีความเมตตาสงสารเกิดขึ้น ความคิดนี้ก็ไปกระตุ้นสารเอ็นโดรฟินในสมองให้มันหลั่งออกมา เมื่อร่างกายได้รับสารเอ็นโดรฟิน ก็จะทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองด้านบวกสดชื่นแจ่มใส อิ่มเอิบ อารมณ์ดี ที่เราเรียกว่ามีความสุข นั่นถูกต้อง แต่หากความคิดที่ออกมาเป็นไปในทางความโกรธ พยาบาท หรือวิตกกังวล ความคิดนั้นก็จะไปกระตุ้นสารเคมีประเภทที่เป็นด้านลบในสมอง ให้หลั่งออกมา เมื่อสารเคมีชนิดนี้หลั่งออกมาแล้ว ก็จะมีปฏิกิริยาด้านลบส่งไปถึงอารมณ์ให้มีความทุรนทุราย ร้อนรน หรือวิตกกังวลตลอดเวลาซึ่งอารมณ์จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสารเคมีที่หลั่งออกมา ถ้าหลั่งมากเกินไป ก็จะอาละวาด ทำร้ายผู้อื่นได้ หรือเศร้าโศกเสียใจจนคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น เมื่อมีการคิดแต่พยาบาทครั้งแล้วครั้งเล่า สารเคมีตัวนี้หลั่งออกมามากเกินไปก็จะคลุ้มคลั่ง ต้องส่งโรงพยาบาลประสาท ซึ่งแพทย์ก็จะทำการรักษา ด้วยการฉีดสารเคมีที่จะไประงับการหลั่งของสารเคมีชนิดนั้น ให้อยู่ในภาวะสมดุล อาการจึงจะสงบลงได้






ดังนั้นสารเคมีจึงเป็นตัวแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่ต่างๆ นี่คือ “ผล” ที่เกิดจาก “เหตุ” นั้นๆ ดังนั้น เราจึงต้องย้อนกลับมาที่ “เหตุ” ก่อน

โดยก่อนที่จะหลั่งสารเคมีใดๆออกมาก็จะมีตัว “ความคิด” เป็นตัวชี้นำ อย่างที่บอกแต่ต้น เมื่อมีความคิดดี สารเคมีประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายก็หลั่งออกมา เราสดชื่น เราสบายกาย สบายใจ ที่เราเรียกกันว่า “ความสุข”
เมื่อคิดร้าย วิตกกังวล สารเคมีที่หลั่งออกมาก็ทำให้เราโศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ เป็นความไม่สบายกาย ไม่สบายใจที่เราเรียกกันว่า “ความทุกข์” เราจึงต้องมาสกัดกั้นที่ต้นเหตุ ก่อนที่จะส่งไปที่ “ผล”
คนที่ปฏิบัติธรรมะ ย่อมจะรู้ว่า ทำไมพุทธศาสนา จึงสอนให้เรามีเมตตา กรุณาต่อผู้อื่น ให้มีความรัก ความหวังดี ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ด้อยกว่า ให้อภัยกับความคิดร้ายของผู้อื่นนี่เป็นกุศโลบายในทางพุทธศาสนา คือการให้เปลี่ยนความคิด  เมื่อคิดพยาบาท อย่าเลย ให้คิดเมตตาเขาดีกว่า เมื่อคิดริษยา อย่าเลย มีมุทิตาจิตหรือพลอยยินดีกับเขาดีกว่า นี่เป็นอุบาย ให้เปลี่ยนความคิดจากด้านลบ เป็นด้านบวก เมื่อใดที่คิดในด้านบวกสารเอ็นโดรฟินก็จะหลั่งออกมาตามกลไกของความคิดนั้นซึ่งเป็นธรรมดาตามกลไกของร่างกาย สารเคมีนั้นก็จะไปทำปฏิกิริยาให้เกิดอารมณ์ด้านดีขึ้น ผู้ที่คิดก็จะมีแต่ความสุขความอิ่มเอิบในจิต ความสงบเย็นในอารมณ์ และเมื่อกระทำเช่นนี้บ่อยครั้งเข้าจิตก็จะบันทึกเป็นอัตโนมัติ คือเมื่อมีอะไรมากระทบไม่ว่าด้านใดแนวความคิดก็จะไปในทางเห็นอกเห็นใจ ให้อภัย สงสาร และจัดการไปในสิ่งที่สมควรโดยมิได้มีความโกรธเคืองเป็นตัวชี้นำ บุคคลคนนี้ก็จะกลายเป็นผู้มีอารมณ์ดี มีเมตตาอยู่เป็นนิจ
ดังเราจะเห็นได้ในผู้ที่ปฏิบัติจิตในขั้นสูงจะมีอารมณ์เยือกเย็น สงบ มีเมตตา และพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่มีแต่ความสุข เพราะสารเคมีก็จะหลั่งออกมาในด้านบวกอย่างเดียว

ส่วนคนที่มีแต่ความฉุนเฉียว โกรธง่าย วิตกกังวล หดหู่เศร้าหมอง ไม่มีความเมตตา คิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่นตลอดเวลา ความคิดเหล่านี้ก็ไปกระตุ้นสารเคมีด้านลบให้มันหลั่งออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาก็จะมีแต่ความทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ตลอดเวลาซึ่งมีอยู่จำนวนมากในโลกมนุษย์ยุคนี้
ดังคำว่าสวรรค์ในอก นรกในใจ ที่ธรรมะกล่าวไว้มันก็เกิดขึ้นในปัจจุบันนั่นเอง เมื่อคุณคิดดี สารเคมีด้านบวกหลั่ง คุณก็มีความสุข จิตใจสบาย ความสุขก็เกิดได้ในปัจจุบัน เมื่อคุณคิดร้าย คิดอิจฉาริษยา พยาบาท สารเคมีที่เป็นด้านลบก็หลั่งออกมา ทำให้อารมณ์ร้อนรน ทุรนทุราย กระวนกระวาย ทุกข์ใจก็เกิดได้ในปัจจุบันเช่นกัน

ดังนั้นหลักของพุทธศาสนาเป็นเช่นนี้ สอนให้เราทำ “เหตุ” ที่ดีเพื่อ “ผล” ที่ออกมาก็ย่อมดีตามไปด้วย เพราะมันเป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ ความสุข ความทุกข์ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ มันก็เป็นเรื่องที่เราเลือกได้เพียงแต่เราจะมีความจริงใจที่จะเลือกมันหรือไม่ เท่านั้น

จึงเป็นเพียงการมาบอกขั้นพื้นฐานของผู้ปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่ความเป็นอย่างนั้นเอง ของธรรมชาติ และเป็นแนวทางที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน


หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “กินข้าวในถาดธรรมดา กับกินข้าวในถาดทองคำถ้ามีความพอใจเท่ากัน ก็มีความสุขเท่ากัน” ซึ่งในสมัยก่อน เราก็ยังเถียงอยู่ในใจว่าจะสุขเท่ากันได้อย่างไร คนรวยล้นฟ้า กับคนที่ทำมาหากินไปวันๆ มันน่าจะมีความสุขต่างกัน แต่หากเรานำเรื่องนี้มาเทียบเคียง โดยบอกว่าคนที่มีเงินมากมายไปกินอาหารภัตตาคารหรูหรา มื้อละ 20,000 บาท เมื่อมีความพอใจในอาหารมื้อนั้น ความพอใจไปทำให้สารเคมีประเภทเอ็นโดรฟินหลั่งออกมา 2 cc เขาก็มีความสุขเท่านั้น
คนชาวบ้านธรรมดา ลูกซื้อไก่ย่าง 5 ดาวมาฝาก ตัวละ 80 บาท กินกันทั้งครอบครัวอย่างอร่อย เพราะไม่ค่อยได้กิน มีความพอใจในอาหารมื้อนั้นมาก ทำให้สารเคมีประเภทเอ็นโดรฟินหลั่งออกมา 2 cc เท่ากัน เขาก็มีความสุขเท่ากับเศรษฐีคนนั้น



เพราะความสุข ทุกข์ มันขึ้นอยู่กับสารเคมีในร่างกายที่หลั่งออกมา ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกตามสารเคมีนั้นๆ ดังนั้น ถ้าสารเคมีประเภทเอ็นโดรฟินหลั่งออกมาคนละ 2 cc เท่ากัน ทั้งสองคนก็มีความสุขเท่ากัน เพราะความสุขมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน ความหรูหรา แต่มันขึ้นอยู่กับความพอใจ ที่เป็นกลไกของการหลั่งสารเคมีนั่นเอง

เราจึงเริ่มเข้าใจกลไกของขันธ์ห้า กลไกของสารเคมี และมีมุมมองที่กว้างขึ้นและไม่สงสัยว่าถ้าคนมีเงินกินอาหารอย่างหรูในภัตตาคารมื้อละสองหมื่น แต่ถ้าสารเคมีแห่งความพอใจหลั่งแค่ 1 cc เขาจะมีความสุขน้อยกว่าชาวบ้านธรรมดาที่ได้กินไก่ย่างห้าดาวกับข้าว และพอใจกับอาหารมื้อนั้นอย่างมาก สารเคมีพุ่งถึง 2 cc เขาก็ย่อมมีความสุขกว่าอีกคนแน่นอน

จึงเห็นได้ว่า มันมีกลไกของธรรมชาติที่มีเหตุและผลตรงไปตรงมา ถ้าไม่มีกลไกอย่างนี้ ถ้าทุกอย่างอิงอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง คนรวยก็ต้องสุขอย่างเดียวสิ คนจนก็ต้องทุกข์ตายเลยสิ แต่เพราะมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราจึงจะพอมองเห็นว่า ความรวย ความจน ไม่ได้เป็นตัวชี้นำให้เกิดความสุข ความทุกข์ เราจึงเห็นคนรวยมากมายก็ยังมีความทุกข์อยู่ คนที่พอมีพอกินหรือคนที่รู้จักพอ เขาก็มีความสุขได้ ซึ่งบางคนอาจจะสุขมากกว่าคนรวยบางคนด้วยซ้ำไป คนรวยที่มีความทุกข์มีมากมาย คนจนที่มีความสุข มีเยอะแยะ


ดังนั้น ความสุข ความสงบเย็นของจิต จึงเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากมายแค่ไหน สิ่งนี้ต้องทำเอาเอง

นี่คือความเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ และยุติธรรมที่สุด ก็คือการไขว่คว้าหาความสุข ความสงบทางจิต และหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ ที่ไม่ว่ารวยหรือจนต้องหาด้วยตนเองกันทั้งนั้น



ซึ่งจะเห็นได้จากพระอริยเจ้าทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติจิตเพื่อการหลุดพ้น หรือผู้ปฏิบัติธรรมส่วนมาก ย่อมไม่ได้เห็นว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นสิ่งสำคัญ ท่านไม่มีทำไมท่านไม่ทุกข์ ทำไมท่านจึงกลับมีแต่ความสุข ความสงบ ดังนั้น จึงต้องมองให้เห็น มองให้ทะลุในกลไกของธรรมชาติ ว่าความสุขความทุกข์มันเกิดที่ไหน มันเกิดได้อย่างไร และควรใช้วิธีการใดในการจัดการกับความรู้สึก สุข ทุกข์ ที่เกิดขึ้นนี้พอเรารู้กลไกเช่นนี้ เราก็ต้องหลอกล่อด้วยกุศโลบายต่างๆ เพื่อให้จิตมีแต่คิดดี มีความเมตตา กรุณาต่อผู้อื่นเป็นนิจ เพื่อควบคุมให้มีแต่สารเคมีด้านบวกด้านเดียวเท่านั้นที่หลั่งออกมา เราก็จะมีแต่ความสุขได้ และอาจมีมากกว่ามนุษย์ทางโลกที่มากด้วยทรัพย์สินเสียอีก

บทความ จากหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า “ฝนประปราย” ได้เขียนไว้ว่าความห่วงใยของ “ตัวตน”


บทสนทนาระหว่างท่านอภินันโท กับท่านพลเตโช“ท่านครับ ท่านฐิตธัมโม พูดกับผมเหมือนขู่ตะคอกไม่รู้ชังน้ำหน้าอะไรผม อย่างนี้ไม่มีเมตตานี่?”

“ถ้าท่านเกลียดน้ำหน้าคุณ ขาดเมตตา ท่านก็เป็นทุกข์ของท่านเองแหละ อย่าห่วงเลย”


เราก็ต้องมาเรียนรู้ขันธ์ห้าให้ถ่องแท้ว่า โดยความจริงแล้ว ความสุข ความทุกข์นั้น มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น แต่มันมีกลไกอื่นๆมาร่วมด้วย


ธรรมชาติของการเกิดเวทนา คืออารมณ์ที่ถูกปรุงแต่งโดยสารเคมี ถ้าลำพังตัวเวทนาของขันธ์ห้า มันไม่ได้รู้สึกอะไรไปด้วยหรอก เพราะมันมีหน้าที่แค่ปรุงแต่งไปตามสารเคมีเท่านั้น แต่เพราะมันมีคู่ด้วย คือจิตที่มีปัญญา (มโนวิญญาณ) เป็นตัวต่อเชื่อมกับเวทนาอยู่...


แต่ระหว่างเวทนากับตัวจิตที่มีปัญญา (มโนวิญญาณ) นั้น ความจริงมันไม่ได้ติดกัน ไม่ได้อยู่ด้วยกัน และไม่ต้องรับผิดชอบซึ่งกันและกัน แต่เพราะว่ามี
อุปาทาน คือความยึดมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา มาดักรออยู่ระหว่างกลางนั้น คอยที่จะเชื่อมระหว่างอารมณ์ ความรู้สึก กับตัวจิตที่มีปัญญานั้นให้เข้ามาติดกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นตัวเป็นตน และความไม่รู้คืออวิชชา ที่มีอุปาทานคอยสร้างตัวตนมารองรับอารมณ์นั้นๆอยู่เสมอ มันจึงมีเรากำลังอารมณ์ดี เราอารมณ์แจ่มใส เรากำลังหงุดหงิด อารมณ์เสีย เรากำลังขุ่นมัว เรากำลังร้อนอกร้อนใจ วิตกกังวล ซึ่งแท้จริงมันไม่ได้มีตัวใครเป็นผู้ที่กำลังเกิดอารมณ์นั้นเลย มันเป็นแค่กลไกปรุงแต่งไปเรื่อยเท่านั้นเอง


ความจริง อารมณ์มันก็สักแต่ว่าอารมณ์ มันก็เหมือนความคิด ถ้าเราเห็นว่ามันกำลังคิดอะไร เราก็มองมันเฉยๆได้ อยากคิด คิดไป แต่ถ้าพอคิดกังวลปุ๊ป แล้วตามความคิดปั๊ป อุปาทานก็สร้างตัวเรามารองรับทันที มันจึงมีตัวเรากำลังกังวล กำลังไม่สบายใจ กำลังกลุ้มใจ ซึ่งแท้ที่จริงมันมีทางให้เลือก ว่าจะเป็นแค่ผู้ดู ด้วยรู้จริงๆ ว่าแกเป็นแค่ความคิด หรือจะเลือกว่า มีตัวตนของเราเป็นผู้ที่ต้องกังวลไปตามความคิดนั้นแต่ว่าเวทนา อารมณ์ความรู้สึกนั้น มันปล่อยวางยากกว่าความคิด เพราะมันจะมีความรู้สึกที่เหมือนเป็นตัวเรามากที่สุด วางความคิดว่ายากแล้ว ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนี่ยิ่งยากกว่า

ดังนั้น กว่าจะรู้จริงๆว่าเวทนา หรืออารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้มันปรุงแต่งเอง มันสร้างอารมณ์ต่างๆขึ้นมาเองในขันธ์ห้า และมันไม่จำเป็นต้องมีใครเป็นผู้รองรับเวทนาเหล่านั้น ก็ต้องค่อยๆแงะการยึดติดออกไปทีละน้อย เพื่อจะละอุปาทานขันธ์ห้าทีละขันธ์นั้น น่าเหนื่อยจริงๆ

ดังนั้นการรับรู้ทางเวทนา หรือทางอารมณ์นั้น ก็เช่นกัน อารมณ์ที่เกิดสักแต่ว่ารับรู้ก็ได้ เห็นว่าขณะนี้อารมณ์ซึมเศร้ากำลังเกิดขึ้นอยู่ ก็รู้ว่ามันกำลังเกิดขึ้นอยู่ จะไปสนใจมันทำไม ให้มองเห็นสภาวะอารมณ์ในขณะที่มันเกิดอยู่นั้นตามความเป็นจริง เราก็จะมองดูอารมณ์เหล่านั้นเฉยๆได้ ไม่ไปห้าม ไม่ไปบังคับให้มันหาย เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมา มองเห็น แล้วเราก็จะมีวิธีการจัดการกับอารมณ์นั้นๆได้โดยไม่ต้องทุกข์



เช่นของหาย นาฬิกาข้อมือร่วงหายในตลาด ไปหาแล้วก็ยังไม่เจอ หากยังมีความยึดมั่นในนาฬิกาเรือนนั้นอยู่ เมื่อกลับมาก็ต้องมีความรู้สึกเสียดายเป็นธรรมดา มีอารมณ์ซึมเซา มีภาวะหดหู่ เศร้าหมอง อ่อนอกอ่อนใจ เราก็ต้องเข้าใจว่า มันก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เพราะมันเสียดายของ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นกลไกของขันธ์ห้า ที่มันต้องปรุงไปตามเหตุปัจจัย มันก็จะเป็นแค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่มันไม่ใช่ความทุกข์  
แต่ถ้าคนๆนั้นไม่ยึดมั่นในนาฬิกาเรือนนั้น พอร่วงหาย ก็ตัดเลย ความอาลัยอาวรณ์ไม่มี อารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ก็จะไม่มีขึ้นมา เพราะมันไม่ส่งต่อความคิดไปที่เวทนานั่นเอง  
ตัวการสำคัญของเรื่องก็คือ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา ที่คอยเชื่อมเวทนา เข้าด้วยกันกับจิตที่มีปัญญานั่นเอง



ดังนั้นคู่นี้ จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียด ต้องแยกให้มันออกจากกัน ให้มันอยู่ห่างๆกัน เพราะตัวจิตที่มีปัญญานั้น มันไม่ได้ติดกับขันธ์ห้า มันอยู่ของมันต่างหาก มันเป็นผู้ดูการทำงานของขันธ์ห้า มันจะไม่ทุกข์เลย ถ้าไม่มีการเข้าไปรับเอาเวทนาเข้ามารวมกัน อาจจะงง... ขออธิบายเพิ่มอีกนิด

เวทนา ความรู้สึกสดชื่น อิ่มเอิบ หรือกระวนกระวาย ซึมเศร้า หดหู่ หม่นหมองนั้น มันเป็นภาวะที่กำลังเกิดอยู่ในขันธ์ห้า ไม่ได้เป็นตัวใคร ของใคร ส่วนจิตที่มีปัญญานั้น ก็มีหน้าที่แค่รับรู้อารมณ์ในขณะนั้น แค่นั้น เป็นผู้กำลังดูอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นของขันธ์ห้าแต่ทีนี้ ระหว่างจิตที่มีปัญญาซึ่งทำหน้าที่ “ผู้ดู” กับเวทนาหรืออารมณ์ที่เกิดอยู่ในขณะนี้นั้น มีตัวอุปาทานอยู่ระหว่างกลาง คอยที่จะดึงให้ตัวจิตไปรับผิดชอบว่าอารมณ์หดหู่เศร้าหมองนั้นเป็นของเรา คอยที่จะหลอกล่อให้เกิดอุปาทานว่ามีตัวเราของเรามารองรับอารมณ์นั้นๆ ทุกครั้งที่เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้น ถ้าไม่ทันอุปาทาน ก็จะมีตัวเราโผล่ขึ้นมารองรับ เมื่อมีตัวเรา จึงมีเราผู้มีความสุข จึงมีเราผู้มีความทุกข์ เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ตัวกู ตัวสู ที่เผลอเมื่อไร เกิดขึ้นเมื่อนั้นนั่นเอง หากมีสติรู้เท่าทันในความคิด ในอารมณ์ ในขันธ์ห้า ก็จะไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เกิดขึ้นมาเลย ดังนั้น ถ้ามีสติรู้เท่าทันอารมณ์ การที่จะดูเวทนาให้เห็นว่า อารมณ์ก็สักแต่ว่าอารมณ์ จะหดหู่เศร้าหมอง จะเบื่อหน่าย จะร้อนรุ่มใจ จะเอิบอิ่มสดใส ก็มองเห็นมันไปตามนั้น  

วิธีการดูก็ต้องทำเหมือนดูความคิดปรุงแต่งน่ะแหละ ดูแบบเดียวกัน เห็นว่ามันคิดอะไร กังวลอะไร แล้วกำลังจะชวนไปทางไหน เมื่อดูเห็นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตกอกตกใจ มันอยากว่าใคร คิดอกุศลใดๆ แยกเจตนาออกมาอย่าไปส่งเสริมมัน และอย่าไปอุปาทานว่ามีตัวเราเป็นผู้คิด


เวทนาก็เหมือนกัน มันก็ต้องดูเฉยๆ เหมือนดูความคิดนั่นแหละ อย่าไปให้น้ำหนักว่ามันสำคัญกว่ากัน มันกำลังร้อนรุ่ม กำลังวิตกกังวล กำลังหดหู่เศร้าหมอง กำลังเบื่อหน่าย ก็เห็นว่ามันกำลังเป็นอย่างนั้นอยู่ตามจริง อยู่กับอารมณ์นั้นๆได้โดยไม่ต้องไปทุกข์ด้วย เพราะเมื่อเราเห็นว่ามันเป็นอารมณ์เช่นนั้น มันก็สักแต่ว่าเป็นอารมณ์ของขันธ์ มันไม่ได้เป็นอารมณ์ของใคร  

ถ้าเราเห็นว่าเวทนากำลังเร่าร้อนด้วยความโกรธ หดหู่เศร้าหมองด้วยความเสียใจ หรือแม้กระทั่งสดชื่นแจ่มใสด้วยความสมหวัง เมื่อจิตที่มีปัญญาซึ่งกำลังเป็นผู้ดูอยู่นั้น ได้เห็นแล้วว่า มันก็แค่อารมณ์ที่รุ่มร้อน มันแค่อารมณ์ที่หดหู่ของขันธ์ห้าเท่านั้น มันไม่ใช่อารมณ์ของใคร หรือของเราเลย เมื่อจิตไม่เข้าไปจับ ไม่เข้าไปยอมรับว่าเป็นอารมณ์ของเรา มีสติดูเห็นตามความเป็นจริง ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีใครเป็นผู้ทุกข์นั่นเอง


แต่ถ้าทำบ่อยๆ ก็จะรู้เท่าทันอารมณ์มากขึ้นๆ พอเริ่มเบื่อ ก็จะมองเห็นความเบื่อ พอเริ่มมีอารมณ์หงุดหงิด ก็จะมองเห็นความหงุดหงิด พอเริ่มวิตกกังวลเหี่ยวแห้งใจ ก็จะมองเห็นอารมณ์ที่เศร้าซึมนั้นทันที แล้วจิตที่มีปัญญาก็จะเป็นผู้ดูที่ดี คือไม่ไปยุ่งกับอารมณ์ ไม่ไปบังคับให้มันหายเสียที ไม่ไปบังคับให้มันเลิกหดหู่เสียที

หากมองเห็นอารมณ์ได้จริง จะไม่เข้าไปรับผิดชอบในความรู้สึกนั้นๆเลย และมันอยู่ไม่นาน มันก็จะเปลี่ยนของมันเอง เมื่อเห็นเราไม่สนใจมันก็เปลี่ยนใหม่ มันเป็นกลไกของธรรมชาติเช่นกัน

ดังนั้น คู่สุดท้ายนี้ ก็คือเวทนา กับจิตที่มีปัญญา และหากเป็นผู้ดูอย่างเดียว ก็จะเห็นว่า ทั้งคู่นี้ไม่ได้ติดกัน มีระยะห่างกัน เมื่อต่างคนต่างอยู่ อุปาทานว่าเป็นตัวเราสุขทุกข์ ก็ย่อมไม่มี  

ระวังแต่ตัวอุปาทานเท่านั้น ที่มันคอยแต่จะมาจับทั้งคู่เข้ารวมกัน และอุปาทานว่าขันธ์ห้า เป็นตัวเราของเราขึ้นมาอีกเท่านั้น
  
แต่ถ้าตัวเรา ของเรา โผล่ออกมารับว่าเป็นอารมณ์ของเรา ทุกข์ของเราอีกเมื่อไร อย่าตกใจ ก็แค่ย้อนกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง แล้วค่อยๆแยกออกจากขันธ์ห้ากันใหม่  


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ส่วนมากจะอยู่ในข่ายของอุปาทานว่าเป็นความทุกข์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งความทุกข์ที่เคยกลัวนั้น มันไม่ได้มีจริง ไม่ได้มีตัวตนของความทุกข์จริงๆ มีแต่อุปาทานว่ามีตัวเราเป็นผู้ทุกข์เท่านั้น กว่าจะจับได้ไล่ทันก็แทบแย่เหมือนกัน แต่ถ้าลงมือปฏิบัติจริง การแยกขันธ์ห้าออกจากจิตที่มีปัญญานั้น ก็สามารถทำได้จริงๆ เพราะมีตัวอย่างของกลุ่มคนที่ทำได้มาแล้วนั่นเอง  

สำหรับผู้ที่พบเจอกับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่หนักหนาสาหัสมากมาย ก็ลองพยายามแยกดู ซึ่งเรียกว่าการซ้อนขันธ์ เพราะเราต้องซ้อนทั้งขันธ์ห้า ให้เห็นว่ามันสักแต่ว่าร่างกาย สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าความคิด สักแต่ว่าอารมณ์เท่านั้นซึ่งก็คือ
การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง  


หรือท่านที่อ่านแล้ว รู้สึกว่าสามารถทำความเข้าใจได้นั้น ก็ลองปฏิบัติดูก็ได้นะคะ ค่อยๆทำไป ค่อยๆดูไป และค่อยๆแยกแต่ละขันธ์ออกจากกันไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่า ความจริงมันไม่ได้มีตัวตนของตนจริงๆ เป็นแค่กลไกของขันธ์ห้าจริงๆ  
ก็ขออนุโมทนาให้กับทุกๆท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติจิต และมีความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปค่ะ




การเวียนว่ายตายเกิด





มีธรรมะในอีกมุมมองหนึ่ง ที่ได้อธิบายให้รับรู้ในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด ให้มองเห็นในเรื่องของการเกิดบ่อยๆ เกิดซ้ำๆ เวียนว่ายกันอยู่อย่างนั้น  และการที่เกิดมาแต่ละครั้ง แต่ละชาติ ก็ยังคิดว่าเป็นของใหม่ เป็นตัวตน ของตน ที่น่ายึดถือ น่าอยากได้ใคร่ดี ตะเกียกตะกายไขว่คว้าโน่นนี่มาเป็นของเราตลอดเวลา จึงยังต้องเวียนว่ายไปมาในวัฏสงสารอันหาที่สิ้นสุดมิได้แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้รู้ ผู้ที่เห็นความน่าอเนจอนาถในการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ท่านได้พยายามมาบอก มาแนะนำ มาชี้แนะแนวทางให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ ความน่ากลัวของวัฏสงสาร หากพิจารณาตามแล้ว ก็จะเกิดการเบื่อหน่าย เกิดการไม่ใยดี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น ไม่อยากที่จะยึดมั่นถือมั่นในการที่จะต้องมาวนเวียน เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ก็มีธรรมะในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งจะนำมาบอกกล่าว และเมื่อพิจารณาตามแล้ว ก็จะเห็นความน่าเบื่อหน่ายในการเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านั้น และคลายจากความยึดมั่นถือมั่นได้ในระดับหนึ่ง
ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นความเป็นจริงตามธรรมชาติของวัฏสงสารนั่นเอง “เกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์” เกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ ก็จะมีการเปรียบเทียบคำนี้ ใช้ได้ในทั้ง 2 สถานการณ์คือเกิดเป็นมนุษย์ตามภพชาติ คือบ่อยๆซ้ำๆ ไม่รู้จบ ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ก็ย่อมมีแต่ความทุกข์ และเกิดจากความคิดที่คิดเป็นทุกข์ในแต่ละขณะ คือไม่ว่าเกิดความคิด วิตกกังวล ความขุ่นข้องหมองใจ บ่อยเท่าไร ก็ทุกข์เท่านั้น
ก็จะกล่าวในเรื่องแรกก่อน คือ เกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ ตามการเกิดในวัฏสงสาร ในภพชาติที่ไม่มีที่สิ้นสุด





การเกิดในหลายภพชาตินั้น มากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าเป็นมนุษย์ สัตว์ เทวดา พรหม หรือในชาติภพอื่นๆมากมาย แต่ให้สมมุติว่า เกิดเป็นมนุษย์ในทุกๆชาติ เพื่อการเทียบเคียงกับในขณะนี้ จะได้มีความเข้าใจมากที่สุด


   ตั้งแต่เกิดมาในวันแรก ก็จะมีการดิ้นรนแต่แรกเกิด มีพ่อแม่เลี้ยงดู จนอายุ 3-4 ขวบ เข้าโรงเรียน เล่าเรียนการจนอายุ 20 ปี จบออกมาได้งานทำ แก่งแย่งชิงดีในตำแหน่งหน้าที่ เรื่องลาภยศสรรเสริญกัน ทำงานหาเงินอดออมไว้ และพบคนรัก ได้แต่งงานกัน พอมีลูก ก็ต้องเร่งทำงาน หาเงิน เก็บออมเพื่อที่จะให้ลูกมีกินมีใช้ พออายุ 60 ปี ก็เกษียณอายุ ลูกก็โตหมดแล้ว ก็คิดว่า เออ... ได้พักเสียที เพราะทำงานตะเกียกตะกายหากินมาตลอดเวลา 60 ปี แต่พออายุ 80 ปี ก็ตายเสียแล้ว.. ได้พักแค่ 20 ปีเท่านั้นเอง





ตายปุ๊ป สมมุติเกิดปั๊ป เป็นเด็กทารกใหม่ ก็เริ่มวงจรเดิม เกิดมาแล้ว 3 ขวบก็เข้าโรงเรียน เรียนไปจนอายุ 20 ปี จบออกมาทำงานหาเงินและพบคนรัก แต่งงาน มีลูก ทำมาหากินมาทั้งชีวิต พออายุ 60 ปี ก็เกษียณอายุ ก็คิดว่า เออ.. ได้พักเสียที แต่อายุ 75 ปีก็ตาย ได้พักแค่ 15 ปี ก็มาเกิดวงจรเดิม เป็นเด็กทารก เรียน ทำงานหาเงิน แต่งงานมีครอบครัว ทำมาหากิน มีลูก พอลูกมีงานทำ เราก็เกษียณอายุ 60 ปีพอดี เออ.. ได้พักเสียที แต่ 70 ปี ก็ตายแล้วเพราะโรครุมเร้า ได้พักแค่ 10 ปีเอง

ก็มาเกิดวงจรเดิมอีก เป็นเด็กทารกใหม่ เริ่มต้นเรียนใหม่ ทำมาหากินกันใหม่ แต่งงาน มีลูก แล้วก็เกษียณ เออ.. ได้พักเสียที แต่พอ 85 ปีก็ตายแล้ว เออ.. ชาตินี้ได้พักนานหน่อย 25 ปี

ก็เกิดใหม่อีก เรียนอีก ทำงานอีก มีครอบครัวอีก หาเงินเลี้ยงลูกอีก อายุ 60 ปี จะได้พักสักหน่อย ก็เจ็บ ก็ตายอีกแล้ว แล้วก็ต้องวนมาเกิดเป็นเด็กใหม่อีก เรียนอีก ทำงานอีก เลี้ยงลูกอีก เจ็บอีก ตายอีก อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น ตอนนี้แค่คิดว่า ต้องเกิดมาเป็นเด็กใหม่อีกหรือ ต้องเรียนกันใหม่อีกหรือ แค่นี้ก็เบื่อแล้ว ทุกข์แล้ว


เพราะตราบใด ยังต้องเกิดมาเพื่อทำมาหากิน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น

นี่ยังกล่าวแค่การเกิด ดำรงชีวิต ทำมาหากินแบบปกติ ยังไม่ได้รวมในแต่ละชาติที่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน ความผิดหวัง ความสมหวัง ความสุข ความทุกข์ ที่ปนเปกันไปในแต่ละขณะในแต่ละชาติด้วยนะ แค่คิดว่า ต้องเกิดอีกแล้ว เป็นเด็กอีกแล้ว ต้องตะเกียกตะกายอย่างเดิมซ้ำๆอีกแล้ว แค่นี้ก็จะเห็นความน่าเบื่อหน่ายในวัฏสงสาร ความไม่อยากที่จะต้องมาเกิดซ้ำๆแบบนี้อีกแล้ว





ยิ่งหากเกิดมาแล้วไม่พบธรรมะ ที่จะนำพาให้พ้นทุกข์ได้ ก็ยิ่งเสียเวลาในการเกิดแต่ละชาติเป็นอย่างยิ่ง ต้องวนเวียนอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด นี่ยังไม่นับในการแวะไปเกิดเป็นสัตว์บ้าง ในภพอื่นๆบ้าง ในบางชาติ ตามวิบากกรรมที่สร้างในแต่ละชาตินะ


ถ้ามองเห็น ถ้าพิจารณาตาม ก็จะเห็นความน่าเบื่อหน่าย น่าอเนจอนาถในการเกิดบ่อยๆ เกิดซ้ำๆ เกิดแล้วเกิดอีก เมื่อไรจะสิ้นสุดเสียที แต่เพราะความไม่รู้ การเกิดมาแต่ละชาติ ก็เหมือนรู้สึกว่าเป็นของใหม่ เป็นคนใหม่ เป็นตัวเราของเราชาตินี้ วันนี้ จึงกอบโกย ทำมาหากิน สะสมเงินทอง เป็นร้อยล้านพันล้าน ตายไปก็เอาไปไม่ได้


ต้องเวียนไปเกิดเป็นเด็กใหม่ แล้วตะเกียกตะกายสะสมกันใหม่อีกไม่รู้จบสิ้น ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นถึงความน่าเวทนาของการเวียนว่ายตายเกิดในภพมนุษย์นี้ ซึ่งมีอายุสั้นนัก แค่ 100 ปี ก็ตายกันแล้ว


จะยังยึดมั่นถือมั่นกันอยู่ทำไม?






ปัจจุบัน ก็คือปัจจุบัน






ทุกอย่างไหลไปตลอดเวลา ดังนั้น ปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลที่สุด


ความคิดในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้เท่าทัน แล้ววางลง เพราะเมื่อวางได้ แล้วเราก็จะได้ความว่างในปัจจุบัน

จะรอไปปล่อยวาง ไปเห็นความว่างในอนาคตไม่ได้ เพราะมันจะไม่มีเกิดขึ้นจริง

อย่างเช่น หากเข้าไปอยู่ในความคิด ทุกข์ไปกับความคิด ผ่านไปสัก 5 นาทีแล้วเพิ่งนึกได้ ก็ไม่เห็นในปัจจุบันแล้ว เพราะปัจจุบันผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไป 5 นาทีแล้ว จึงยังต้องทุกข์ไปก่อน แล้วค่อยย้อนเอาอดีตมาเป็นบทเรียนในปัจจุบัน
อย่าลืมว่า ปัจจุบัน ก็คือปัจจุบัน อยู่ที่ว่าเราจะเห็นมันหรือไม่เท่านั้น

แม้แต่การไปคิดถึงอดีต แท้จริงก็เป็นปัจจุบัน เพราะเหตุการณ์ในอดีต เมื่อคิดวันนี้ เดี๋ยวนี้ มันก็กำลังออกมาจากหัวเรา ออกมาจากสมองของเรา ออกมาเป็นความคิดเราในปัจจุบันนี้ ในวินาทีนี้ ในเดี๋ยวนี้

นั่นคือปัจจุบัน... ของการคิดถึงอดีต

อาจจะงง สำหรับหลายท่าน และหลายท่านเริ่มเข้าใจ ว่ามันซ้อนกันอยู่อย่างนี้


เมื่อเห็นความคิด ความรู้สึก อารมณ์ในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ก็จะไม่เห็นว่ามีตัวตน ของตน มีตัวเรา ของเราที่ไหน มันจะไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะเห็นแค่กระแสของกลไกธรรมชาติที่มันกำลังไหลไปตามเหตุปัจจัยแต่ละขณะนั่นเอง




สมมุติว่าเราอยู่สบายๆ แต่พอเห็นดอกกุหลาบสีแดง ที่แม่ค้าเดินผ่านมาขาย ความคิดแว็บเข้ามาทันทีเลยว่า เมื่อก่อนเราเคยซื้อกุหลาบอย่างนี้ให้แฟนคนเก่าในวันวาเลนไทน์ แต่เขากลับไปมีแฟนใหม่แล้ว ความคิดน้อยใจ เสียใจ ดังที่เคยผ่านมาเมื่อหลายปีก่อน ก็ย้อนกลับมาได้ อารมณ์หดหู่ เศร้าหมองไปกับความคิดที่ย้อนกลับมานั้น


เหตุการณ์เกิดใน... อดีต แต่ความทุกข์เกิดใน.. ปัจจุบัน...


ความจริง ความคิดเราห้ามมันไม่ได้ มันจะย้อนไปข้างหลัง มันจินตนาการไปข้างหน้าในอนาคตได้เสมอ ตลอดเวลา เพียงแค่มีวัตถุดิบมากระทบ หรือเหตุปัจจัยเก่าบ้าง ใหม่บ้างมากระตุ้นเล็กน้อย มันก็ไปแล้ว ห้ามไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร บังคับบัญชาก็ไม่ได้ ไม่อยากคิดก็ไม่ได้ เพราะมันคิดให้เสร็จสรรพ


แต่... ถ้ารู้จริงว่า ต่อให้เป็นเรื่องราวในอดีต แต่ว่ามันก็กำลังใช้ปัจจุบันคิดอยู่


ใช้สมองขณะนี้ ใช้ความคิดขณะนี้ ปรุงแต่งเรื่องเก่าอยู่ในขณะนี้ แต่เป็นปัจจุบันของเรื่องราวในอดีตขณะนี้


ปัจจุบัน จึงจัดการได้

อดีตแก้ไขไม่ได้ เพราะผ่านมาแล้ว

ปัจจุบัน แก้ไขได้ ถ้ารู้เท่าทันในปัจจุบัน ว่ากำลังคิด พูด ทำอะไรอยู่


อนาคต แก้ไขได้ เพราะมันไม่มีอนาคตจริง อนาคตก็คือปัจจุบัน เพราะไปคิดถึงอนาคต แต่ขณะคิดถึงอนาคต ก็ต้องใช้ความคิดในปัจจุบันเป็นตัวคิด ดังนั้น

อนาคตจึงไม่มีจริง มีแต่ปัจจุบันที่กำลังคิดถึงอนาคต เมื่อผ่านไป 1 วินาที ความคิดที่คิดถึงอนาคตก็เป็นอดีตไปแล้ว

มันซ้อนกันอยู่อย่างนี้ เพียงแต่ว่าเราจะเข้าใจได้แค่ไหนเท่านั้น


ถ้าเข้าใจปัจจุบัน ปล่อยวางในปัจจุบัน เราก็จะอยู่กับปัจจุบันที่แม้ว่ามันคิดจะเอาเรื่องอดีต อนาคต มาคิดก็เรื่องของมัน เพราะมันทำอะไรเราไม่ได้ เพราะมันก็แค่คิดในหัวของเรา ในความคิดของเรา ณ ตอนนี้ ณ เดี๋ยวนี้ ณ ปัจจุบันนี้

ทางธรรมะ พระปฏิบัติทานจึงสอน จึงบอกให้เราอยู่กับปัจจุบัน อย่าฟุ้งซ่านไปในอนาคต อย่าย้อนคิดไปในอดีตที่ผ่านมา เพราะมันไม่มีประโยชน์ใดๆ


เห็นอดีต เห็นอนาคตได้จริง ก็ต่อเมื่อเราเห็นปัจจุบัน

เพราะอดีต อนาคต ทั้งหลายทั้งปวง มันรวมอยู่ในปัจจุบัน ในหัวของเรา ในความคิดของเรา ณ วินาทีนี้แล้ว

ถ้าจะดับ ก็ดับในขันธ์นี้ ในความคิดนี้ ถ้าจะปล่อยวาง ก็ปล่อยวางในขันธ์นี้ ในความคิดนี้

ถ้ารู้เท่าทันขันธ์ห้า ก็รู้เท่าทันทั้งโลก ทั้งจักรวาลแล้ว

ไม่ต้องไปเสาะหาทางดับทุกข์ที่ไหนเลย

เหตุเกิดที่ไหน ก็ดับที่นั่น

เหตุเกิดในขันธ์ห้า เขาว่าเรา เขานินทาเรา เขาก็ไปแล้ว

แต่เหตุที่เกิด อยู่นี่ อยู่ในความคิดที่ปรุงแต่ง ว่าเราทำไม นินทาเราทำไม คิดไปเรื่อย ร้อนอกร้อนใจ ความทุกข์เกิดอยู่ข้างใน แผดเผาอยู่ข้างใน ก็ยังไม่รู้

คิดแต่จะไปดับที่ข้างนอก ไปเปลี่ยนข้างนอก เปลี่ยนคนอื่นให้คิดเหมือนเรา ให้เห็นความดีของเรา อย่าเข้าใจเราผิด ต้องออกไปถาม ไปหาสาเหตุ ไปเรียกมาคุย มาสนทนา มาสอบถาม มาเอาเรื่องเอาราว มาแก้แค้นให้ได้ มันจะจบไหมนี่


ที่ต้องไปเปลี่ยนข้างนอก มันยาก มันเหน็ดเหนื่อย มันเสียเวลา

แต่ถ้าเปลี่ยนข้างใน ไม่ยุ่งยาก ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่เสียเวลา

ถ้ารู้ว่า เขาว่าเรา เขาไปแล้ว ไปถึงไหนๆแล้ว ไปสนุกสนานเฮฮาที่ไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่ใกล้ที่สุด ทำร้ายเราได้มากที่สุด มันรวมกันอยู่ในขันธ์นี้แล้ว ในความคิดนี้แล้ว ในวินาทีนี้เท่านั้น

เขาไปแล้ว 2 ชั่วโมง ความคิดปัจจุบันยังวนเวียนอยู่ในหัว ในขันธ์ห้า แล้วก็ทำร้าย ทิ่มแทง ให้อารมณ์คุกรุ่น มีแต่ความทุกข์เพราะความคิดตลอดเวลา

ถามว่า อันไหนใกล้เราที่สุด ทำร้ายเราได้มากที่สุด ทำให้เราทุกข์ เรากังวลได้มากที่สุด

ก็คงตอบว่า ความคิด ความรู้สึก ความร้อนรนของอารมณ์ที่มันอยู่ในขันธ์ห้านั่นเอง

ไอ้คนที่ว่า... ตอนนี้อาจไปนั่งกินข้าวสบายใจไปแล้ว มันว่าแล้ว... มันก็ไป หรือเขาอาจลืมไปแล้วก็ได้

แต่ความคิดความรู้สึกที่อยู่กับเรา มันไม่ไป มันวนไปวนมา ก่อให้เกิดทุกข์เรื่อยไป

แต่สิ่งที่คิด มันก็ไม่ได้เป็นของเดิม ต่อให้คิดอีกสัก 10 รอบ ก็เป็นความคิดใหม่ทั้งสิ้น ไม่มีความคิดของเดิมเลย


แม้ต้นเหตุเป็นเรื่องเดิม แต่ความคิดต้องปรุงใหม่ทุกครั้ง

ว่าเราทำไม... ผ่านไปแล้ว

ว่าเราทำไม... ผ่านไปแล้ว

ว่าเราทำไม... ผ่านไปแล้ว


แม้จะเป็นประโยคเดิม แต่การปรุงต้องเป็นของใหม่ เพราะความคิดเก่าเมื่อผ่านออกไปแล้ว มันจะไหลผ่านไปเลย

แม้คิดประโยคเดิมอีกครั้ง ความคิดก็ต้องปรุงประโยคเดิมใหม่ ไม่ใช่ตามไปดึงประโยคเดิมที่คิดเมื่อครู่นี้กลับมาใช้อีกครั้ง มันไม่ใช่


มันต้องปรุงใหม่ทุกครั้งที่คิด เหมือนลมหายใจ เมื่อหายใจออกไป ลมหายใจก็ออกไปแล้ว สลายไปแล้ว เมื่อหายใจเข้ามาใหม่ ก็จะไม่ใช่อากาศเดิม แม้จะอยู่บริเวณนั้น มันก็ไม่ใช่อยู่ดี

แม้จะดึงอากาศของเก่ามา ก็เป็นการหายใจครั้งใหม่อยู่ดี เพราะการหายใจครั้งเก่ามันผ่านไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้วเมื่อวินาทีที่ผ่านมา

การอยู่กับปัจจุบันก็คือ เห็นว่า มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันก็ปรุงไปเรื่อย ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งปรุงแบบความสุข ทั้งปรุงแบบความทุกข์ แต่ทุกเรื่อง มันเป็นการปรุงในปัจจุบันทั้งสิ้น

เพราะแต่ละการปรุงในปัจจุบัน ก็จะมีตัวอุปาทานมาคอยดักเกาะ ปรุงสุขใช่มั้ย เกาะปั๊ป ก็จะมีตัวเราผู้มีความสุข

ปรุงเรื่องทุกข์ใช่ไหม ก็จะมีตัวอุปาทานมาคอยดักเกาะ เกาะปั๊ป รับผิดชอบปั๊ป มีตัวเราผู้ทุกข์ทันที ปรุงสุข ปรุงทุกข์ใช่ไหม ปรุงไปตามสบาย ก็แค่เห็นว่ากำลังปรุงอะไรในปัจจุบัน ในทุกขณะ ในทุกสภาวะ ทุกขณะจิตเท่านั้นแหละ แก้ปัญหาทั้งโลก ทั้งจักรวาลได้ในขณะจิตเดียว

ก็คือรู้เท่าทันขันธ์ห้า รู้เท่าทันการปรุงแต่ง รู้เท่าทันอวิชชา ที่มีกิเลส ตัณหา อุปาทานมาคอยหลอกล่อ ให้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า
ความทุกข์ถ้ารู้ไม่เท่าทัน ก็เกิดจากอุปาทานเหล่านี้แหละ ที่มันคิดว่ามีตัวเรา ก็เลยมีความทุกข์ ความสุขที่เป็นของเรา

แต่ถ้ารู้เท่าทัน ทุกข์ก็แค่ความคิด สุขก็แค่ความคิด ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ดังนั้น ความสุข ความทุกข์ มันไม่ได้มีจริง เป็นความคิดที่ปรุงแต่งออกมา แล้วไปกระตุ้นสารเคมีให้หลั่งออกมาตามความคิดนั้นๆ

คิดว่าพอใจ ถูกใจ คิดถึงคนรัก คิดว่าจะได้ไปเที่ยว จะไปหาเพื่อน

ความคิดนี้ก็ไปกระตุ้นสารเคมีประเภท เอ็นโดรฟิน ให้หลั่งออกมา ร่างกายก็เลยมีความสดชื่น อารมณ์ดี มีความกระชุ่มกระชวย เราก็เลยคิดว่า นี่เป็นความสุข

แต่พอคิดโมโห ฟุ้งซ่าน ขัดอกขัดใจ ไม่พอใจ กังวล ไม่สบายใจ สารเคมีก็หลั่งมาตามความคิด ก็เลยมีความรู้สึกร้อนรน หดหู่ เศร้าหมอง มึนซึม ตามสารเคมีในสมองที่หลั่งออกมาตามความคิดในแนวนั้นๆ เราก็เลยคิดว่าเรากำลังทุกข์

ทุกอย่าง ก็อยู่ในปัจจุบัน ตัวความคิด เปลี่ยนความคิด หรือดูความคิดที่กำลังเกิดขึ้น ว่าจะไปเอาเรื่องเอาราวอะไรกับความคิดปรุงแต่ง ที่มันปรุงไปเรื่อย ก็แค่ดูให้เห็นว่าคิดอะไร แล้วไม่ต้องไปดับให้มันหาย เพราะยิ่งดับ มันยิ่งฟุ้ง ก็เป็นแค่ผู้ดู ดูมันปรุง เข้าใจว่ากำลังปรุงเรื่องอะไร แล้วก็วางเฉยเสีย อย่าไปยุ่งกับมัน


รู้ เข้าใจ ปล่อยวาง เดี๋ยวมันก็ผ่านเลยไป


ก็ทำวิธีไหนก็ได้ ก็จะสามารถจัดการสิ่งที่คิดว่าเป็นความทุกข์ได้ทั้งสิ้น


ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง ของคำว่าปัจจุบัน เป็นการรู้เท่าทันขันธ์ห้า รู้เท่าทันความคิดในปัจจุบัน ข้อความเหล่านี้ คงพอมีประโยชน์กับหลายๆท่าน




โลกนี้คือละคร








เมื่อใดที่ยังคงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารก็จะต้องแสดงบทบาทต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ในโรงละครแห่งสังสารวัฏนี้หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละบทบาท

ลองคิดดูเล่นๆก็ได้ เกิดเป็นมนุษย์ใน 1 ชาติ ก็ต้องแสดงมากมายหลายบทบาทเหลือเกิน

แค่เกิดเป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งก็มีตั้งหลาบบทบาทมาตั้งแต่แรกเกิดมาเลยเชียว

รับบทแรกเป็นเด็ก เป็นลูกของพ่อแม่แล้วรับบทเป็นพี่ของน้อง ตอนนี้รับบทเป็นสามี พออีกหน่อยรับบทเป็นพ่อแล้วก็รับบทเป็นลุง เป็นปู่ เป็นอะไรต่อมิอะไร เรื่อยไป



ความอีรุงตุงนังมันมากกว่านั้น ในขณะเดียวกันขณะรับบทเป็นพ่อของลูกเรา ก็ยังต้องรับบทเป็นลูกของพ่อแม่เรา และก็ยังรับบทเป็นสามีของภรรยา ในขณะเดียวกันก็รับบทเป็นปู่ของหลาน รับบทเป็นพี่ของน้อง รับบทเป็นหลานของปู่ เป็นลุงของหลานอะไรมากมายเกินจะนับญาติ

ถ้าเราเกิดมาแล้วนับแสนๆชาติ เราก็จะมีพ่อมาแล้ว นับแสนๆ มีภรรยามาแล้วนับแสนๆคน มีลูกมาแล้วแสน – สองแสนคน มีพี่น้อง มีหลาน มีปู่ย่าตายาย มาแล้วนับแสนๆคน เช่นกัน

แล้วเราต้องรับบทอย่างนี้มาแล้วหลายแสนหลายล้านครั้ง ไม่เบื่อกันบ้างหรือไร?

นี่ยังไม่นับบทอื่นๆที่ร่วมมาให้แบกอีกนะ บทลูกจ้างที่ต้องคอยทำงานให้เจ้านาย หรือบทเป็นเจ้านายที่ต้องคอยคุมคอยดุด่าว่ากล่าวลูกจ้าง บทคนใช้ที่ต้องเอาใจเจ้านาย บทคนค้าขายที่ต้องหวังกำไร บทคนทำมาหากินด้วยความทะยานอยาก บทคนหาเช้ากินค่ำประทังชีวิต บทคนมียศตำแหน่ง บทนายร้อย บทนายพัน บทนักการเมือง บทครู บทอาจารย์ อารมณ์ความรู้สึก ความคิดก็ย่อมแตกต่างกันไปตามบทนั้นๆ จึงมีบทบาทมากมายที่เกาะกุมรุมล้อมตัวเองเอาไว้

แล้วแต่ละบท ก็เล่นไม่เหมือนกัน บทพ่อก็เล่นแบบหนึ่ง บทสามีก็เล่นแบบหนึ่ง บทเจ้านายก็เล่นแบบหนึ่ง บทลูกน้องก็เล่นแบบหนึ่ง บทลุงบทปู่ก็เล่นแบบหนึ่ง อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ก็ย่อมแตกต่างกันไปตามบทนั้นๆ

คนที่แสดงบทเป็นอาจารย์ ก็ต้องเล่นบทลูกศิษย์พร้อมๆกันไปด้วยเมื่อเข้าไปหาอาจารย์ที่สอนมาก่อน และอาจารย์ของเราก็เล่นบทลูกศิษย์เมื่อไปหาอาจารย์ต่อๆไป แล้วบทไหนที่เป็นบทจริงๆของเราล่ะ แล้วเราอยู่ตรงไหน แล้วยังไงล่ะ?

มันอีรุงตุงนังกันไปหมด ถ้ายังไม่ว่างจากตัวตนจากสิ่งที่คิดว่าเป็นของตนจะไม่มีการหยุดพัก ไม่ว่าอิริยาบถไหน ที่ไหน เมื่อไร ในโลก... ดังที่ธรรมะได้กล่าวไว้

  



พอวิญญาณออกจากร่าง ก็เลิกสมมุติ เลิกเป็นสามี เลิกเป็นพ่อแม่ เลิกเป็นพี่น้อง ต้องไปวนเวียนใหม่ในวงจรของเหตุปัจจัยที่สร้างไว้ในชาติที่ผ่านมา



ถ้ายังยึดติดในบทบาท ถ้ายังคิดว่าเป็นอัตตาตัวตนของตนจริงๆ จะไม่มีวันพบกับความสงบได้เลย เพราะทุกบทบาทมีแต่ความวุ่นวาย ความหนักอกหนักใจทั้งสิ้นหากมีตัวตนผู้รับผิดชอบในบทบาทนั้นๆจริงๆ ย่อมเป็นของหนักทั้งสิ้น


จริงๆแล้ว ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติที่มันต้องหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ และมันไม่ได้เป็นตัวใครของใครจริงๆ เป็นสิ่งสมมุติตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

การที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ยังต้องรับบทต่างๆเรื่อยไปนั้นก็เพราะมีอุปาทานว่ามีตัวเรา เป็นผู้เกิดอยู่ เป็นผู้มีตัวตนอยู่ และเราเป็นผู้ตายไปนั่นเอง

อุปาทานว่ามีตัวเราก็จะยังอยู่แม้ว่าร่างกายมันจะนอนเหมือนท่อนไม้ใช้การไม่ได้ แต่ถ้ายังมีความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่ อวิชชาคือความไม่รู้จริง มันก็จะดึงเอาดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันอีกครั้ง มาเกิดเป็นตัวเราอีกครั้งในชาติต่อไปนั่นเอง

เราจับได้ว่า ไอ้ความหลงผิดไปอุปาทานว่ามีตัวเราอยู่นั่นแหละคือปัญหาที่ต้องจัดการละ

ทำอย่างไร? จึงจะทำให้ความยึดมั่นว่าเป็นตัวเราหายไป

เมื่อไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวเรา สิ่งที่เคยเป็นของเราจึงย่อมไม่มีไปด้วยโดยอัตโนมัติ


แต่ทุกวันนี้ บางท่านปฏิบัติจนมีความเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วปล่อยวางอัตตาตัวตน จนไม่ทุกข์กับตัวเราได้ในระดับหนึ่ง

แต่พอมองคนอื่น กลับเห็นว่ามี ตัวเขา มีตัวตนของเขาอยู่ มีสัตว์บุคคล ตัวตน มีเรา มีเขาอยู่ ดังนั้นคนรอบข้างก็เลยมีอิทธิพลกับความรู้สึกทำให้เราสุข เราทุกข์ได้


ถ้าเรารู้จริงว่าเราก็สมมุติ คนอื่นๆก็สมมุติเช่นกัน


ถ้ารู้จริงๆ ว่าเรามาแสดงบทบาทเหล่านี้ในแต่ละชาติ ในโรงละครแต่ละโรงนั้น คนอื่นๆก็มาแสดงบทบาทของเขาเช่นกัน ในแต่ละโรงละครแต่ละชาตินั้นๆเช่นกัน แล้วอะไรคือของจริง?



ของจริงไม่มี ..ไม่มีตัวใครของใครทั้งสิ้น ทุกอย่างล้วนเป็นธรรมชาติ


ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งเข้าด้วยกัน ความมีอุปาทานว่าเป็นตัวเรา เป็นผู้ดึงดูด ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด


อวิชชาคือความหลงว่ามีตัวเราอยู่ตัวเรามีอยู่ ตัวเราเกิดมานั่นเอง คือปัญหาของการต้องมาเกิดอีก

เมื่อยังคิดว่ามี ตัวเรา อยู่เมื่อใด ก็ต้องเกิดอยู่ร่ำไปนั่นเอง

จุดสำคัญที่ต้องตีให้แตก ก็คือความรู้สึกที่เป็นตัวเรา

เมื่อมีสติ อยู่กับปัจจุบันขณะรู้ว่ามันกำลังเล่นละครกำลังดำเนินไปในกลไกของธรรมชาติอย่างนั้นเอง ไม่มีอดีตจริง ไม่มีอนาคตจริงๆ มีแต่ปัจจุบัน กำลังยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ในตอนนี้ ในปัจจุบันขณะนี้ นั่นแหละตัวตนก็จะไม่เกิดขึ้น

ธรรมะจึงให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ที่เหลือก็แสดงตามบทตามสมควรที่ขันธ์ห้ามันจะดำเนินไป

ดังนั้น เมื่อเข้าใจว่าเรากำลังมาแสดงตามบทบาทในแต่ละชาติที่ถูกผลักดันตามเหตุปัจจัยที่สร้างมาด้วยความไม่รู้นั้น ในชาติปัจจุบันก็เลยต้องมารับบทอย่างนี้ อย่างนี้ต้องทุกข์มาก อย่างนี้ต้องผิดหวัง สมหวังอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนั้นเองตามบท ถ้ามีความเข้าใจในบทบาทนั้น ในสิ่งที่ต้องเผชิญตามบทนั้นๆ จะมีสติ ไม่หลงใหลไปในบทบาทต่างๆที่กำลังแสดงอยู่ และเริ่มไม่ยึดติดในบทที่ต้องแสดงนั้น

เพราะเดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนบทไปเรื่อยๆ


นั่นคือเริ่มจะไม่มีตัวตน เป็นคนจริงๆ เป็นเราจริงๆ เริ่มเข้าใจในกลไกของขันธ์ห้า เริ่มจางคลายจากการยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตน ของตน จึงเท่ากับมีการปล่อยวางได้ในระดับหนึ่ง ตามกลไกของธรรมชาติ

โดยปกติแล้ว บุคคลทั่วๆไป ในทุกความคิดทุกการตัดสินใจจะพัลวันอยู่ด้วยคำว่า.. มีเรา.. มีเขา.. อยู่ตลอดเวลา

เมื่อมีเราก็ต้องมีเขาเป็นเรื่องธรรมดา

แม้บางครั้ง มีการปฏิบัติธรรมเข้าใจในธรรมชาติจนแทบจะไม่เหลือตัวเราให้ยึดเกาะแล้วก็ตาม แต่การมองบุคคลอื่นๆรอบๆตัวเรา ก็ยังคงเห็นเป็นตัวเขา ยังเห็นเป็นตัวตนของเขาอยู่ก็จึงยังคงต้องปะทะกับโลกธรรม 8 อยู่นั่นเอง

...ยังมีการห่วงลาภ ห่วงยศ ห่วงสรรเสริญ ห่วงสุข

ไม่อยากเสื่อมลาภ ไม่อยากเสื่อมยศ ไม่อยากให้คนนินทา ไม่อยากทุกข์


การที่จะอยู่เหนือโลกธรรม 8 ได้นั้น ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้การพิจารณาอย่างยิ่ง ต้องปฏิบัติให้เห็นจริงด้วย





ความกลัว.. เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ขังเราไว้ในวัฏสงสาร จะเป็นตัวตีกรอบให้ต้องอยู่ในวังวนของสังสารวัฏอันยาวนานอันจะหาทางออกไม่ได้

เรามาลองสังเกต ความกลัว ให้ดี แล้วจะเห็นว่ามันเป็นตัวการโอบล้อมให้เราอยู่แต่ในกรอบที่มันตีไว้
   

จะทำอย่างนี้ กลัวเขาว่าอย่างนั้น
          จะทำอย่างนั้น กลัวเขาว่าอย่างนี้

ความกลัวก็มีหลายระดับ ในขั้นหยาบๆ ก็คือห่วงรูปขันธ์
   จะไปเที่ยว กลัวรถคว่ำ
   จะไปซื้อของ กลัวโดนวิ่งราว
   จะนั่งแท็กซี่ กลัวโดนจี้
   จะไปถอนเงิน กลัวโดนปล้น
   จะทำอะไรก็กลัวอันตรายแทบทั้งสิ้น

   หรือกลัวจะเจ็บ กลัวจะแก่ กลัวจะตาย กลัวสิ่งที่รักจะจากไป กลัวสิ่งนี้จะหาย สิ่งนี้จะผุพังแตกสลาย

   จิตย่อมหวั่นไหวขึ้นลงอยู่กับความหวาดระแวงนั้นๆ

   ในระดับหยาบๆหลายท่านก็ผ่านกันไปแล้ว ไม่สนใจรูปขันธ์ หากลึกลงไปอีกก็ยังคงถูกความกลัวกักขังไว้อีกชั้นหนึ่ง

   กลัวเขาจะว่า กลัวเขาจะนินทา กลัวเขาจะเข้าใจผิด กลัวเขาจะเกลียด กลัวเขาจะไม่รัก กลัวเขาจะหาว่าเพี้ยน กลัวเขาจะ.... ฯลฯ

   ไม่ว่าจะอีกสักกี่กลัวนั่นคือการมองออกไปกระทบกับภายนอกทั้งสิ้น

   จึงมองไม่เห็นว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นภายใน กำลังคิดอะไร กำลังรู้สึกอะไร


   จะทำอย่างนี้ เดี๋ยวคนนั้นว่า จำทำอย่างนั้น เดี๋ยวคนนี้บ่น ทำอย่างนี้คนนั้นชม ทำอย่างนั้นคนโน้นนินทา
   จะไปหาเพื่อนคนนี้ เดี๋ยวเพื่อนคนนั้นไม่ชอบ จะไปหาเพื่อนคนนั้น เดี๋ยวเพื่อนคนนี้ต่อว่า เพราะไม่ถูกกัน
   จะไปที่นี่ เดี๋ยวที่โน่นว่า จะไปแต่ที่โน่น เดี๋ยวที่นี่ไม่พอใจ จะทำอะไรก็เกรงใจทางโน้น ห่วงใยทางนี้ เบื่อทางนั้นอยู่ตลอดเวลา สารพัดปัญหา สารพันเรื่องราว จึงมีแต่ความสับสน ความวุ่นวายที่อัดแน่นอยู่ข้างใน แล้วจะแก้ไขอย่างไรดี?


   ไม่ต้องไปแก้ที่ไหน มันอยู่ใกล้ๆกับเรานี่เอง

   อยู่ที่ว่า... เรามองเห็นมันหรือไม่เท่านั้น


   เมื่อมองยังไม่เห็น เราก็ยังอยู่ในโลกธรรม ยังขึ้นลงอยู่กับสภาวะอารมณ์ ที่ยังอินอยู่กับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ยังออกกันไม่ได้

   ความสงบ ความว่าง ความเบาสบายจึงยังไม่มี ยังต้องขึ้นลงกับทุกข์สุข เพราะการมองที่ยังไม่เห็นความเป็นธรรมชาตินั่นเอง แต่ถ้ารู้เท่าทันอารมณ์ รู้เท่าทันความกลัว รู้เท่าทันขันธ์ห้า เราจะอยู่เหนือโลกธรรม 8 ได้

   ไม่ใช่สิ่งที่เหลือเชื่อเลย

   แค่รู้เท่าทันขันธ์ห้า เราก็สามารถรู้เท่าทันโลกทั้งโลก รู้เท่าทันธรรมชาติ รู้เท่าทันจักรวาล รู้เท่าทันวัฏสงสารได้





สรุปลงมาเหลือนิดเดียว อยู่ใกล้นิดเดียว คือในขันธ์ห้าเท่านั้น ไม่ต้องไปเรียนรู้ให้หมดทุกสาขา ไม่ต้องไปเสาะหาสถานที่ทั่วโลก ไม่ต้องไปฝึกฝนวิชาให้มากมายจากที่ไหนเลย

เพราะห้องเรียนอยู่ในขันธ์ห้า อยู่ด้วยกันนี่เอง





ความกลัว ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว


   ความกลัว ก็คือความคิด ที่กำลังคิดว่า... กลัว... อยู่

   อย่าลืมว่ามันเป็นแค่... ความคิด

   ที่มันกำลังคิดว่ามัน... กลัว... อยู่

   มันไม่ได้มีความกลัวอยู่จริง
   แต่มันคิดว่า... กลัว

   เมื่อเราเห็นความคิดก็เท่ากับเราเห็นความกลัว

   เมื่อเราปล่อยวางความคิดก็เท่ากับเราปล่อยวางความกลัว

   เมื่อไม่มีความคิด ก็ไม่มีความกลัว

   เมื่อรู้เท่าทันความคิดก็รู้เท่าทันความกลัว

   อย่าไปกลัว... ไอ้ความกลัวนั้น...


   คือ อย่าไปกลัว ไอ้ความคิดที่มันกำลังคิดกลัว




นั่นคือ.. การซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คือฉันไม่กลัว ไอ้ความกลัวที่แกคิดขึ้นมา

ฉัน ตัวนี้.. คือธาตุรู้ที่มีปัญญาที่เฝ้าดูขันธ์ห้ามันทำงาน

แก ตัวนั้น.. คือ สังขารที่ปรุงแต่งความคิดที่กำลังคิดว่ากลัว กลัวโน่น กลัวนี่ กลัวนั่นสารพัด

เมื่อเราเห็นความคิดที่กำลังคิดกลัว เราก็จะยิ้มได้ว่า ..คิดกลัวอีกแล้ว คิดกลัวโน่นกลัวนี่ คิดห่วงโน่นห่วงนี่ คิดกังวลโน่นกังวลนี่ไปสารพัด
   แล้วหากปล่อยให้มันคิดนาน ไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ความคิดกลัวนี้ ก็จะไปเร่งสารเคมีที่ทำให้เกิดอารมณ์หวาดกลัว หวาดหวั่น สะดุ้ง ผวา ขันธ์ห้าก็จะมีอาการใจเต้น หวาดระแวง หรือวิตกกังวลรุ่มร้อน สะดุ้ง สะเทือนไป เราก็เลยดูคล้ายคนกำลังกลัว กำลังทุกข์ นั่นเอง

   แต่แท้จริงแล้ว มันไม่มีอะไรหรอก แค่มันกำลัง.. คิด คิด คิด ด้วยสัญญาที่เคยบันทึกไว้มานานแล้ว ว่า ...ถ้าเจอสิ่งนี้ ต้องคิดแบบนี้

   เช่น คนกลัวงู พอเห็นงูเลื้อยผ่านมา ความจำทำงานรู้ทันทีว่างู ความคิดกลัวก็เข้ามาทันที แล้วก็ปรุงแต่งต่อว่ามันจะกัดเรา มันจะฉกเรา ทั้งๆที่อยู่ห่างตั้งมาก ความหวาดระแวง ความรู้สึกอ่อนแรงก็ตามมา เพราะสารเคมีประเภททำให้เกิดอารมณ์ความกลัวหลั่ง หลั่งสารเคมีมากไป อาจเป็นลมไปเลยก็ได้

   ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะขันธ์ห้าเคยบันทึกไว้มันก็ส่งออกมาอย่างนี้แหละอันดับแรก
   อันดับต่อไป ตั้งหลักให้ดี ต้องมีสติให้ทัน พอคิดว่ากลัว ใจสั่นเราก็ลองมองเข้าไปในความคิดว่า เรากลัวอะไร เรากลัวจริงหรือ ความกลัวมีสาเหตุมาจากอะไร

   อ้อ.. มันกำลังคิดว่ากลัว กำลังปรุงแต่งกันใหญ่ พอมีสติหยุดมองก็จะเห็นว่า มันกำลังเรียงต่อกันไปเป็นสายความคิดเลย ทุกอย่างเป็นแค่ความคิดเท่านั้น คิดออกมาจากหัวเดียวกันนี้ คิดดี คิดไม่ดี คิดกล้าคิดกลัวมันเท่ากัน เพราะมันเป็นแค่ความคิด และก็ออกมาจากหัวเดียวกันทั้งสิ้น ออกมาจากสมองเดียวกัน ที่ตั้งอยู่ในขันธ์ห้านี้ ไม่ได้มาจากไหนเลย
ดังนั้นการที่จะดักจับความคิด ความกลัว ความกังวล ก็ต้องดักจับที่หัวของเราที่ความคิดของเรา ง่ายสุดแล้วไม่ต้องไปดักจับภายนอกเลย





   ถ้าคนเขาว่าเราบ้า ว่าเราเพี้ยน เราจิตหลอน

           ขั้นแรก ไม่ต้องไปจับที่ต้นเหตุคือ เขา แต่ให้มองเข้าไปข้างในขันธ์ห้าของเรา


   อ้อ... เราก็จะเห็นกลไกการทำงานของมันเริ่มขึ้น มันเริ่มคิด.. แกมาว่าฉันทำไม มันกำลังปรุงแต่งว่า.. แกมีสิทธิ์อะไร.. เดี๋ยวจะต้องไปจัดการ และเห็นว่ามันกำลังมีอารมณ์ร้อนรน เริ่มโกรธหน่อยๆแล้ว มันกำลังโมโหมากขึ้นแล้ว.. เมื่อเห็นแทนที่จะโกรธ กลับอาจจะขำด้วยซ้ำไป ที่เห็นว่า มันก็เป็นของมันอย่างนี้แหละมานานแล้ว

   เมื่อเห็น ก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์นั้นๆได้ เรียกว่ามีสติในการมองเห็นการทำงานของขันธ์ห้า จัดการกับความทุกข์ในขันธ์ห้าได้ ไม่ต้องไปชกหน้าไอ้คนที่ว่าเราเลย
   ทุกอย่างแก้ไขได้ ถ้ามีสติ มีปัญญา มีการพิจารณาแล้วก็ปล่อยวาง
                  รู้ เข้าใจ ปล่อยวาง
                  รู้.. ว่ามันกำลังเกิดเรื่องอะไรเข้ามากระทบในขณะนี้


   เข้าใจ.. ถึงการทำงานของกลไกขันธ์ห้าว่าเมื่อเกิดอย่างนั้น มันต้องปรุงแต่งอย่างนั้น มันต้องปรุงแต่งอย่างนี้ เป็นธรรมดา

   ปล่อยวาง.. ให้เห็นว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละเป็นเรื่องธรรมดา รู้เข้าใจในภาวะอารมณ์ที่เข้ามากระทบในขณะนั้น มันเกิดขึ้นมันอยู่ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ต้องดับไปเป็นธรรมดาอย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเราเป็นผู้ทุกข์ ทุกข์เป็นของเรา เท่านั้นก็พอ

   ความทุกข์.. ความจริงแล้วมันไม่มี มันมีแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งให้สารเคมีแต่ละ cc หลั่งออกมา แล้วเกิดปฏิกิริยาไปตามนั้น


   แต่จะมีใครสักกี่คนที่มีความเข้าใจเช่นนี้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดขึ้น ความคิดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมันล้วนแต่คิดว่าเป็นความทุกข์ของเราทั้งสิ้น แล้วจะกล่าวว่าความทุกข์ไม่มีจริงได้อย่างไร

   จริงๆแล้วทุกอย่างเป็นวงจร เป็นกลไก เป็นเหตุปัจจัยเป็นไปอย่างนั้นเอง เมื่อตากระทบรูป ก็รับมา สัญญาจำได้ ปรุงแต่งต่อไปว่าชอบ ไม่ชอบ แล้วหลั่งสารเคมีออกมา ก็เกิดเวทนาคืออารมณ์ในขณะนั้นๆ

   สารเคมีที่ส่งผลให้อารมณ์แจ่มใส แช่มชื่น เบิกบาน ที่เรียกว่าอารมณ์สุข

   สารเคมีที่ส่งผลให้อารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง มึนซึม ร้อนรน โมโหเรียกว่าอารมณ์ทุกข์


   แล้วอุปาทานเข้าไปยึดปั๊ปว่าอารมณ์ที่มันกำลังเกิดขึ้นตามสารเคมีในขันธ์ห้านั้น เป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นอารมณ์เรากำลังสดชื่น เป็นเรากำลังขุ่นมัว เป็นเรากำลังวิตกกังวล ไปยอมรับว่าขันธ์ห้าเป็นของเรา อารมณ์เป็นของเราความสุขทุกข์ก็เลยต้องเป็นของเราไปด้วย
   หากไม่มีใครเข้าไปรับผิดชอบ ได้แต่เฝ้าดูมันทำของมันไป ดูมันปรุงแต่งของมันไป มันก็ยังคงหมุนไปตามกลไกของมัน มันไม่สนด้วยว่า จะมีใครไปสุขไปทุกข์ กับอารมณ์เหล่านั้นหรือไม่

   เรียกว่า รู้เท่าทันอารมณ์ ก็สามารถถอดสลักออกจากวงจรความทุกข์ คือถอดความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเราผู้เข้าไปรับว่าสุขว่าทุกข์นั่นเอง

   ความทุกข์ก็ไม่เกิด เพราะไม่ครบวงจร มีแต่ธรรมชาติหมุนไปเรื่อยตามเหตุปัจจัย แต่ไม่มีตัวใครเข้าไปหมุนอยู่ในวงจรความทุกข์นั้น
   ในขณะเดียวกันทุกอย่างก็ยังคงดำเนินไปเหมือนเดิม







เหมือนเช่นระเบิด เราไม่จำเป็นต้องทำลายระเบิดทั้งลูกให้หมดไป แต่แค่ตัดวงจรการระเบิดออก ปลดสลักหรือตัดสายไฟ วงจรก็ทำงานไม่ได้ แล้วการระเบิดก็ไม่มี

   เมื่อรับรู้ เข้าใจ ปล่อยวาง

   รับรู้ทุกขั้นตอน เข้าใจในกลไกของธรรมชาติ เข้าใจการทำงานของขันธ์ห้า และไม่อุปาทานว่ามีตัวเราผู้กำลังกังวลกำลังทุกข์

   วงจรนั้นก็ไม่สมบูรณ์ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ มันถูกตัดไปโดยอัตโนมัติ


   บางครั้ง การตัดฉับพลันเหล่านี้ บางท่านก็ยังงงว่า อ้าวเราเป็นอะไร ทำไมเราไม่ทุกข์เลย ทำไมเราไม่รู้สึกกังวลเลย ทำไมเราไม่รู้สึกเสียดายเลย ทำไมเราไม่โกรธเลย

   นี่คือความเป็นธรรมชาติ คือความว่าง ว่างจากการปรุงแต่งคือสงบได้ท่ามกลางความวุ่นวายจากสิ่งที่กำลังกระทบอยู่ก็ตามที

   แต่เพราะปัจจุบันนี้ เราถูกปิดกั้นให้เห็นความจริงของธรรมชาติ ถูกสอนให้มีความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ ถูกสอนว่ามีตัวเรามีของเราตั้งแต่เกิดมา ตามๆกันมา เลยมีความเข้าใจว่าโลกนี้มีจริง ตัวเรามีจริง ดังนั้น เขาทั้งหลาย มีจริง จึงมีจริง ของทุกอย่างจึงมีจริง

   จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไปยอมรับว่า
   เขาว่า เราต้องโกรธ
   ถ้าเขาชมต้องปลื้มใจ
   เวลาคนให้ต้องยินดี
   เวลาของพังต้องเสียดาย
        เวลาของหายต้องกังวล


   หากไม่เป็นไปตามนี้ถือว่าผิดปกติ ไม่รู้สึกรู้สาเลยหรือไร?

   นั่นก็เพราะเราไปยินยอมรับในกติกาของสังคม กติกาของขันธ์ห้าว่าเกิดอย่างนี้ ต้องคิดอย่างนี้ ต้องรู้สึกอย่างนี้ ต้องมีเรา เป็นผู้รู้สึก เป็นผู้สุข เป็นผู้ทุกข์
   แต่พอมันไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดความรู้สึกสุข ทุกข์ ไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะเริ่มงงว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเรารู้สึกเฉยๆ ทำไมเราไม่ทุกข์ ไม่วิตกกังวล ไม่รู้สึกเสียดาย เราผิดปกติไปหรือเปล่า?

   เมื่อวงจรการเกิดทุกข์มันไม่ครบ มันถูกถอดสลัก(อุปาทานขันธ์ห้า)ออกไปแล้ว ความทุกข์มันจึงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีตัวใครเป็นผู้ทุกข์

   วงจรของขันธ์ห้า มันก็ยังคงหมุนไปตามกลไกของธรรมชาติแต่ไม่มีตัวใครหลุดเข้าไปในวงจรของมันนั่นเอง แล้วมันอยู่ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ดับไป

   ธรรมะ ธรรมชาติ มีหนึ่งเดียวไม่เคยแบ่งแยก


   มีแต่อวิชชา คือความไม่รู้เท่านั้นที่เป็นตัวแบ่งแยก ให้มีการเปรียบเทียบ ให้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ให้มีการแข่งขันกันในความรู้ ในศาสตร์ทั้งหลาย ทั้งปวงที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ

   แต่โดยความเป็นธรรมชาติแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ





ถ้าเห็นพระอาทิตย์ขึ้น คนหนึ่งเข้าใจว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และมันต้องขึ้นอย่างนี้ทุกวัน แต่อีกคนเข้าใจว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และมันจะขึ้นทางทิศตะวันตกทุกวัน อีกคนคิดว่าขึ้นทางทิศเหนือ และมันจะขึ้นทางทิศเหนือทุกวัน

   แม้จะทุ่มเถียงกันไปมาอย่างไร เพราะอาทิตย์ก็ต้องขึ้นทางทิศนั้นอยู่ดี

   ไม่ว่าคนจะเรียกทิศนั้นว่า ตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้ พระอาทิตย์ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร มันยังคงทำไปตามธรรมชาติ


   คนสามคนยังทุ่มเถียงกันไม่สิ้นสุด ความทุกข์ ความสุข ความร้อนรนกระวนกระวาย ก็จะยังคงเกิดกับบุคคลเหล่านั้นต่อไป เพราะต่างต้องการให้เป็นไปตามความเห็นของตน

   ดังนั้น การตัดสินสิ่งหนึ่งสิ่งใด จากมุมมองเท่าที่เห็น โดยใช้ความไม่รู้จริงตามธรรมชาติ ก็ย่อมมีแต่ว่า จะต้องมีข้างใดข้างหนึ่งผิด ข้างใดข้างหนึ่งถูก อยู่ตลอดเวลา และการทุ่มเถียงกัน ก็ไม่มีวันสิ้นสุด

   ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ ดูเข้าไปในสภาวะจิตขณะนั้น ขณะที่มีการตัดสินลงความเห็น ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่มีการกล่าวถึงบุคคลอื่นๆอยู่นั้น สภาวะข้างในกำลังมีความรู้สึกแบบใด ร้อนรนไหม ขึ้นลงด้วยแรงโทสะ โมหะไหม?

   หากมีความร้อนรุ่มในสภาวะจิตในขณะนั้นๆ ควรจัดการกับสภาวะจิตของท่านก่อนสิ่งอื่นใด เพราะเรื่องนี้เร่งด่วนและจำเป็นที่สุดสำหรับท่าน ไม่จำเป็นต้องไปจัดการกับสภาวะภายนอกเลย


   ดังนั้น การปฏิบัติจึงมีหลากหลายวิธี ตามแต่จริตของแต่ละบุคคลนั้น จึงไม่มีการปฏิบัติแนวทางใดดีกว่ากัน ทุกแนวทางเป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลนั่นเอง


   การแบ่งแยก การเอาความเห็นของตนเองตัดสิน จึงมิได้ไปเปลี่ยนแปลงความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติได้



   เพราะไม่ว่าใครจะเข้าใจว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศใดก็ตาม พระอาทิตย์ก็ยังคงขึ้นอยู่อย่างนั้น... นั่นเอง


   ข้อแรกสุด ของขบวนการ หรือวิถีทางที่จะพ้นจากทุกข์ได้ ก็คือ ต้องรู้ก่อนว่า เรากำลังทุกข์อยู่ นี่คือข้อแรกของอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
   เมื่อมีความรู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง วิตกกังวล ไม่สบายกายไม่สบายใจ อึดอัด ขัดเคือง ขุ่นข้องหมองใจ คับแค้นใจ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บีบรัด ให้วิตกกังวล ทุรนทุราย อยู่ในข่ายความทุกข์ทั้งสิ้น

   หากแต่บุคคลนั้น จะรู้หรือไม่ว่า ตนเองกำลัง..ทุกข์ หากไม่รู้ตัวว่ากำลังทุกข์อยู่ กำลังวิตกกังวลอยู่ กำลังร้อนอกร้อนใจอยู่ และไม่รู้ว่าคือทุกข์ ที่มันกำลังเกิดขึ้นแล้วในจิตตนเอง

   เมื่อไม่รู้ว่ากำลังทุกข์ ก็จะจมอยู่แต่ในความทุกข์นั้น หลงติดอยู่ในอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจ กังวล ทุรนทุรายสารพัด ก็จะเหมือนวนอยู่ในวงกลม ที่หาทางออกไม่ได้

   แต่ หากเห็นว่า ที่เรากำลังทุกข์อยู่นี่นะ เมื่อนั้น ก็จะเริ่มกระบวนการที่ 2 ต่อไปก็คือ
   หาสาเหตุแห่งความทุกข์ (สมุทัย) ทันที ว่าที่เร่าร้อน กระวนกระวายใจ วิตกกังวลนี้มีสาเหตุมาจากอะไร อ๋อ.. เพราะห่วงเรื่องงาน เพราะห่วงแฟน เพราะห่วงบ้าน เพราะเพื่อนว่า เพราะเขานินทาว่าร้าย เพราะอยากได้อย่างนี้แล้วไม่ได้ เพราะถูกขัดใจสารพัด

   เมื่อเจอสาเหตุที่ทำให้เราทุกข์ เราก็จะมีวิธีจัดการกับทุกข์เหล่านั้นได้ไม่เกินกำลังแน่นอน ผลที่เกิดแล้ว (ทุกข์) คือสิ่งที่ทนได้ยาก เป็นความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ซึ่งสิ่งนี้ต้องมาก่อน เกิดขึ้นก่อน และรู้ก่อน เห็นก่อนว่ากำลังทุกข์ กำลังร้อนรน

   เหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) เมื่อรู้ว่าทุกข์แล้ว จึงเริ่มหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น ทุกข์เพราะถูกเพื่อนว่า คนนินทา ห่วงงาน ห่วงบ้าน ห่วงแฟน สารพัดปัญหา

   ทางดับทุกข์ (นิโรธ) เมื่อเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ว่าทุกข์เพราะสาเหตุใด คราวนี้ก็เลยต้องหาทางที่จะให้ทุกข์นั้นเบาบางลง ซึ่งจะมีการแก้ปัญหาในหลายรูปแบบ แต่คนปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ก็จะหันมาศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสสอนไว้ ถึงวิธีปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร คือการพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงนั่นเอง ซึ่งท่านได้วางแนวทางไว้หลายขั้นตอน หลายระดับ ซึ่งทางหนึ่งที่จะพ้นทุกข์ได้ ก็ต้องเดินทางของมรรคมีองค์ 8

   ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค) ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางนั้นมีทางเดียวแต่มีองค์ประกอบ 8 ประการ เป็นแนวทางที่ผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ ต้องนำมาปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์เหล่านั้น จะมีหลายขั้นตอน หลายระดับ ตามกำลังของตน และเมื่อปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง ก็จะละจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า อุปาทานขันธ์ห้าก็จะน้อยลง ความทุกข์ก็จะเบาบางลงไปเรื่อยๆ จนหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงได้นั่นเอง


   พระพุทธองค์ท่านตรัสสอนในอริยสัจ 4 ซึ่งมีแต่เรื่องของทุกข์กับการดับทุกข์เท่านั้น นั่นแสดงว่า ถ้าเราได้เห็นทุกข์ ได้รู้จักทุกข์ เมื่อนั้น เราก็มีโอกาสที่จะออกจากทุกข์ได้ แต่ผู้ไม่เห็นทุกข์ ก็จะเวียนว่ายอยู่ในความทุกข์ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทุกข์ ก็ยังคงร้อนอกร้อนใจ กระวนกระวาย วิตกกังวล อารมณ์ขุ่นมัว ทะยานอยากแล้วไม่ได้ดังหวัง ก็ทุรนทุราย แย่งชิงกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ย่อมหาทางออกจากทุกข์ไม่เจอนั่นเอง

   เราจึงควรรู้จักอริยสัจ 4 อย่างง่ายๆให้ถูกตรงในขั้นต้นก่อน เพื่อเอาตัวรอดจากทุกข์ในวัฏสงสารนั่นเอง

   เมื่อรู้ตัวว่ากำลังทุกข์ ให้หาสาเหตุว่า กำลังทุกข์จากเรื่องอะไร? หาให้เจอ


   มิวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง หรือหากแก้ไขอะไรไม่ได้ การทำตัวเองให้เป็นทุกข์ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด ดังนั้นก็ต้องใช้ธรรมะมาพิจารณา เพราะการไปอุปาทานว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา ของเรา จึงทำให้ต้องติดข้องอยู่ในวังวนทุกข์เหล่านั้น

   เมื่อเจอแนวทางการปฏิบัติเพื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ห้าแล้ว ก็นำมาปฏิบัติเลย ก็จะเห็นว่า ความทุกข์จะเบาบางจางลงไปเรื่อยๆ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ก็จะจางคลายลงไปเรื่อยๆเช่นกัน ดังนั้น ความทุกข์ก็จะเกาะกินไม่ได้อีกต่อไป

   ลองดูนะคะ มีแค่ 4 ขั้นตอนเท่านั้น อาจไม่ยากจนเกินไป ก่อนอื่น ต้องคอยตรวจเช็คสภาวะอารมณ์ในขณะนั้นก่อนว่า ตอนนี้อยู่ในข่ายไหน ทุกข์หรือยัง ถ้าดูบ่อยๆทำบ่อยๆ รู้เท่าทันขันธ์ห้าที่คอยแต่จะปรุงอารมณ์ต่างๆเหล่านั้น เห็นบ่อยๆทำบ่อยๆ เดี๋ยวมันก็จะเขินอายไปเอง

   ขออนุโมทนากับทุกท่าน ให้รู้เท่าทันธรรมชาติ ให้รู้เท่าทันทุกข์ ให้รู้เท่าทันอุปาทานขันธ์ห้า แล้วหาทางจัดการกับอุปาทานเหล่านั้นให้สิ้นซากไป ให้มันหมดเชื้อ ดับไม่ให้เหลือ เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่กันอีก


   ขอความเจริญในธรรม จงมีแด่ทุกๆท่านตลอดกาลเทอญ


สมาธิภาวนา







ผู้ชมการแข่งขัน
ย่อมจะเห็นการต่อสู้ที่แท้จริง
ผู้ดูย่อมเห็น
ผู้มองไปข้างหน้า หรือข้างหลัง
ย่อมไม่เห็นตัวเอง



ความหมายของ... อุปาทาน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น

-   ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและจิตใจรวมกันว่าเป็น “ตัวตน” และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น “ของตน”-   หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็คือยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น “ตัวเรา” และยึดถือเอารูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด 4 อย่างนี้ว่าเป็น “ของเรา”
-   พุทธภาษิตมีอยู่ว่า “เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์”
ดังนั้น เบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้นหาเป็นทุกข์ไม่ ฉะนั้น คำว่าบริสุทธิ์หรือหลุดพ้นจึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า “ตัวเรา” ว่า “ของเรา” นี้โดยตรง ดังมีพุทธภาษิตว่า “คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้นเพราะ ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน”


   การสละ การให้.. เป็นเพียงกลไกของธรรมชาติ

   การเข้าใจกลไกของธรรมชาติ คือการเข้าใจความเป็นเช่นนั้นเอง ของธรรมชาติ

   ความจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างต้องไหลไปตามกลไกของมัน ไม่มีใครผู้ให้ และไม่มีใครผู้รับ

   แต่เพราะมีอุปาทานขันธ์ห้าว่าเป็นตัวเรา มีตัวเรา จึงเริ่มมีตัวเขา จึงต้องมีการให้ และมีการรับ


สมัยก่อน หากผู้ที่เข้าไปหาของป่า ก็อาจพบต้นมะม่วง ต้นฝรั่ง ต้นขนุน ต้นมะขาม ต้นมะละกอ หรือต้นไม้ให้ผลมากมายทีมันขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติ มันก็มีกลไก ทำหน้าที่ให้.. อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มันเติบโตมาตามธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเพื่อที่จะยังประโยชน์ผู้อื่น น้ำก็ไม่มีใครรดให้ มันต้องดึงดูดน้ำหาเลี้ยงลำต้นมันเอง มันต้องดึงดูดแสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสงให้ต้นไม้ยังคงอยู่ได้ ในหน้าแล้งมันต้องประคับประคองให้ลำต้นอยู่ได้ในขณะที่มีน้ำน้อยมาก โดยบางครั้งก็ต้องสลัดใบออกไปเพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงพอที่จะรักษาลำต้นให้คงอยู่ได้







ก็เพื่อจะได้ผลิดอกออกผล เพื่อให้มนุษย์ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยกิน อาศัยดำรงชีพ เมื่อให้ประโยชน์กับสิ่งอื่นๆแล้ว ก็บำรุงรักษาต้นของตัวเอง เพื่อที่จะผลิดอกออกผลให้กับบุคคลอื่น หรือสิ่งอื่นๆได้กิน ได้อาศัยเพื่อยังชีพต่อไป เมื่อออกผลใหม่ ก็มีผู้มาเก็บไปกินไปขาย หรือสรรพสัตว์มาอาศัยกินเพื่อยังชีพ แล้วก็ออกผลใหม่ ก็มีผู้มาเก็บไปกิน ไปขาย หรือสรรพสัตว์มาอาศัยกินต่อไป
   ต้นไม้เหล่านี้ ไม่เคยบ่น ไม่เคยว่า ไม่เคยอิดออดที่จะผลิตผลออกมาเพื่อผู้อื่นเลยสักครั้ง
   มันยังคงตั้งหน้าตั้งตาผลิตผลออกมาเพื่อผู้อื่นต่อไป


   เพราะความเป็นธรรมชาตินั่นเอง ความเป็นสิ่งหนึ่งของธรรมชาติที่ต้องถูกผลักดันให้มีการไหลไปตามกลไกของธรรมชาติ คือการเกื้อกูลกันที่ธรรมชาติมีให้กัน

   มนุษย์ก็เป็นเพียงธรรมชาติที่มาประชุมรวมกัน ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และมีธาตุรู้ที่มีปัญญาทางธรรมชาติเป็นตัวผลักดันให้กลไกดำเนินไปได้



   ทุกอย่างเป็นธาตุทางธรรมชาติล้วนๆที่ไม่ได้เป็นตัวใครของใครรวมกันขึ้นมาเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อยังประโยชน์ให้กับธรรมชาติ ธรรมชาติที่ย่อมมีการให้ ที่ย่อมมีความเมตตากรุณาความเอื้ออาทรในทุกสรรพสิ่งอยู่แล้วตามธรรมชาติ หากเข้าใจในธรรมชาติ ก็จะเข้าใจว่า การให้ การแบ่งปัน การช่วยเหลือกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา คือไม่ได้มีใครเป็นผู้ให้ ไม่ได้มีใครเป็นผู้รับ จึงไม่มีตัวใคร เป็นผู้ให้ใคร

   แต่พอมีอวิชชา คือความไม่รู้จริงในธรรมชาติ จึงเกิดอุปาทานขันธ์ห้าขึ้นมา มันอุปาทานไปว่า ธรรมชาตินี้มีตัวตน มีตัวเราขึ้นมา หลังจากนั้นก็ไปยึดมั่นถือมั่นในทุกสรรพสิ่ง ไปแสวงหาเอาสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาเป็นของเรา

   การไหลไป การหมุนเวียนไปตามกลไกของธรรมชาติ ก็เลยสะดุดหยุดลง เพราะมีเครื่องกั้น คืออัตตาตัวตนของตนนั่นเอง

   เมื่อมีตัวตนของตน จึงมีการเก็บกัก เพื่อสนองอัตตาตัวตน

   ดังนั้น การให้ การแบ่งปัน การช่วยเหลือกันตามธรรมชาติที่เคยมี ก็สะดุดหยุดลงเช่นกัน

   เพราะหากแบ่งปันไป เราจะได้อะไรกลับมา




   เหมือนเมื่อก่อน ที่ดินแห่งหนึ่งไม่มีเจ้าของ มีบ่อน้ำอยู่ภายใน คนก็มาใช้ตักกิน ตักอาบ กันมากมาย เราก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ที่ไปร่วมตักน้ำมาใช้ มาดื่ม มากิน





   พอวันหนึ่งมีคนมาแจ้งว่า มีเจ้าของแล้ว คนที่เคยเข้าไปตักน้ำจากบ่อนั้น ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้น ก็จะรู้สึกกล้าๆกลัวๆ แต่ก็ยังพอไปตักได้

   แต่หากเจ้าของที่ดินผืนนั้นมาขายให้กับเราอย่างไม่แพง และเราตกลงซื้อเรียบร้อยแล้ว ทันทีที่มีชื่อเราในโฉนด อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา ก็เกาะทันที ..ที่ดินของเรา..

   และกระบวนการยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้น มีการไปล้อมรั้ว ไปถากถาง ไปยึดเก็บผลไม้เหล่านั้นมาเป็นของตน หากใครปีนเข้าไปเก็บผลไม้ ก็เป็นเดือดเป็นแค้น ทะเลาะต่อยตีกัน เพราะต้นไม้นั้นเป็นของเรา น้ำบ่อนั้นเป็นของเรา

   ทุกอย่างไม่มีผิด ไม่มีถูก มันเป็นไปตามกลไกของทางโลก ที่เราซื้อแล้วก็ต้องเป็นของเรา เราก็ต้องมีสิทธิ์ ต้องหวงแหนเป็นธรรมดา

   แต่ที่ไม่ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติก็คือ เริ่มมีการยึดมั่นถือมั่น การจะไหลไปตามกลไกของธรรมชาติย่อยสะดุดลง การเก็บกัก การหาผลประโยชน์ การยึดครองเข้ามาแทนที่ นั่นคือเพิ่มเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง


   ที่ดินนี้ มันก็ยังอยู่ตามเดิมตรงนั้น อย่างที่มันเป็นนั่นแหละ บ่อน้ำมันก็ยังคงให้น้ำอย่างที่มันเป็นนั่นแหละ ต้นไม่มันก็ยังให้ผล อย่างที่มันเป็นนั่นแหละ

   แต่สภาวะแห่งการยึดมั่นถือมั่น การมีตัวตน การมีของของตนเปลี่ยนไป ทั้งๆที่ของเหล่านั้น มันก็ยังมีของมันอยู่อย่างเดิมตั้งแต่ทีแรก มีมาเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่นเป็นแสนปี เราก็ไม่เคยไปทุกข์กับของที่มีขึ้นมาตามธรรมชาติผืนนี้ หรือเมื่อก่อนหน้านี้ หรือเมื่อวานนี้ก็ไม่ไปทุกข์ เพราะไม่ใช่ของเรา แต่ตอนนี้ วันนี้ เดี๋ยวนี้ ที่ดินนี้เป็นของเราแล้ว แม้ว่าเราจะไม่สามารถแบกไปยังที่ต่างๆตามใจเราก็ตาม

   แต่ไปอยู่ที่ไหน ก็จะห่วงใยมันเสมอ


   ไม่รู้เหมือนกันว่าเราเป็นเจ้าของมัน หรือมันเป็นเจ้าของเรากันแน่ เพราะมันใช้ให้เราต้องคอยดูแลมัน ต้องมาคอยเป็นห่วงเป็นใยมัน ต้องคอยมาปกป้องรักษามัน เหน็ดเหนื่อย สุข ทุกข์ กับมัน เพราะมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นมานับร้อย นับพัน นับล้านปีแล้ว แค่อุปาทานว่าเป็นของเรา มันเพิ่งเกิด มันเพิ่งเกาะเดี๋ยวนี้เอง

   ถ้าเราตาย อุปาทานนี้ก็ไปเกาะกับผู้ที่ได้รับมรดกไป ก็จะเกาะจะยึดไปจนกว่าจะตาย หรือจะขายที่ดินนี้ไป ก็จะมีคนใหม่ มาเกาะมายึดต่อไปอีก ที่ดินก็ยังไปไหน ก็ยังอยู่ที่เดิม มันไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าทำให้ใครกี่คนที่ต้องทุกข์ ต้องสุขกับมัน

   แต่มีคนมากมายเหลือเกิน ที่ไปทุกข์ ไปสุขกับมัน

   เราจะเห็นว่า เพราะ “อุปาทาน” แท้ๆที่หลงคิดไปว่า มีตัวเรา จึงมีของเราไปด้วย

   เหมือนบ้านที่เราอยู่ เมื่อก่อนเช่าเขาอยู่ ก็อยู่ได้อย่างสบาย ทำอะไรสบายๆ กลับบ้าง ไม่กลับบ้างก็ไม่ห่วงเท่าไร อะไรจะผุจะพังก็ช่างมัน เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ของเรา แต่พอซื้อบ้านหลังนั้นต่อจากเจ้าของเรา อุปาทานวิ่งเข้าไปเกาะทันที “มันเป็นของเรา”
หรือ “มันเป็นเจ้าของเรา ในทันที


   จากนั้นต่อมา มันก็จะเริ่มกระบวนการใช้เรา ใช้ให้เราดูแลมัน ให้เราคอยห่วงใย ให้เราคอยกังวลใจเมื่อไปไกลบ้าน บ้านอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ แต่อุปาทาน ความห่วงใย ติดอยู่ในหัวของเรา ในความคิดของเรา เรียกว่า “ไปไหนไปด้วย” ตลอดเวลา



เช่นเดียวกันกับทุกสรรพสิ่งรอบๆตัวเรา ที่สร้างความสุข-ทุกข์จากอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นให้กับเราตลอดเวลานั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาค่างวด สิ่งของใดๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยความงามใดๆ แต่มีขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นต่างหาก

   หากให้ความสำคัญกับสิ่งใด สิ่งนั้นจะมีความหมายในทันที



ปากกามากมายในกล่อง แต่ปากกาด้ามนี้แฟนให้วันเกิด ปากกาด้ามนี้ก็จะมีความหมาย มีความสำคัญมากกว่าด้ามอื่นๆทันที ทั้งๆที่ราคาไม่ได้แพงเลย นั่นเพราะอุปาทานว่า แฟนของเรา.. ให้เรา ปากกาด้ามนี้ มีโอกาสทำให้เราสุข เราทุกข์ ได้มากกว่าปากกาทั้งกล่อง ด้ามอื่นคนหยิบไปใช้ไม่เป็นไร แต่ด้ามนี้หยิบไปมีเรื่องแน่ แม้หายไป จะซื้อมาใช้ทดแทนสักโหล แบบเดียวกัน สีเดียวกัน เขียนได้เหมือนกัน แต่มันทดแทนกันไม่ได้


   นั่นเป็นเพราะอุปาทานว่า ไม่ใช่ด้ามที่แฟนของเราให้นั่นเอง ปากกาด้ามนี้ ทำให้บุคคลนี้ทุกข์ สุข ได้ เพราะมีความหมายนั่นเอง แต่หากวันใดเลิกกับแฟนผู้ให้ปากกาด้ามนี้แล้วอุปาทานในปากกาด้ามนี้ก็หมดไป ไม่ห่วง ไม่อยากได้ ไม่ทุกข์หากจะหายไป หรืออาจโยนทิ้งไปเลยก็ได้ เพราะหมดความหมายแล้วนั่นเอง



   เรื่องเล็กๆแค่นี้ก็สามารถทำให้คนๆหนึ่งเป็นสุข เป็นทุกข์ได้ หดหู่เศร้าหมองได้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของเลย มันทุกข์เพราะอุปาทานล้วนๆ

   นั่นเพราะมีตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่างเลยเป็นของเรา

   จะเห็นได้ว่า อวิชชา คือความไม่รู้ ที่คอยจะสร้างให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ว่ามีตัวเรา ของเรา ขึ้นมาคอยยึด คอยจับ คอยจ้องที่จะสะสมอยู่ตลอดเวลา

   ดังนั้น การที่จะออกจากขันธ์ห้าได้ ต้องเข้าใจมันให้ถ่องแท้ ว่ามันคืออะไรกันแน่ มันมีกลไกอย่างไร มันมีตัวตนจริงหรือไม่

   ในแต่ละวัน บุคคลทั้งหลายจึงพัลวันไปด้วยของของเรา ไหนจะบ้านของเรา รถของเรา เพื่อนของเรา ลูกของเรา ญาติของเรา แฟนของเรา นาฬิกาของเรา ปากกาของเรา โต๊ะของเรา เก้าอี้ของเรา โรงเรียนของเรา ฯลฯ สารพัดที่จะเป็นของเรา


   สิ่งที่เข้ามากระทบ มาปรุงแต่งให้สุขให้ทุกข์ ให้วิตกกังวลจากอุปาทานว่าเป็นของเรา ก็ย่อมมากตามไปด้วย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความแปรปรวนอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว มันจึงเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ไปยึดกับสิ่งเหล่านั้น มีโอกาสทุกข์สุขอยู่กับมันตลอดเวลา

   แล้วทำไมผู้ปฏิบัติ ผู้รู้หลายท่าน ผู้ปล่อยวางจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้ามากมายหลายท่าน ท่านจึงอยู่ท่ามกลางวัตถุสิ่งของได้ โดยไม่ทุกข์ โดยไม่ร้อนรนกับทุกสรรพสิ่งรอบๆตัวท่าน มีทุกอย่างได้โดยไม่ต้องทุกข์ นั่นเพราะ มีก็เหมือนไม่มี มีได้ ใช้ทุกอย่างได้ แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งของเหล่านั้น ว่าเป็นของของท่านนั่นเอง

   การที่จะไม่ทุกข์ ก็เพราะหลุดพ้นจาก อุปาทาน เหล่านั้น ไม่ได้ไปทอดทิ้ง ไปปล่อยปละละเลย ทุกอย่างมีได้ ใช้ได้ ดูแลได้ เสมือนมีตัวเราเป็นผู้แล แต่แท้จริงแล้ว ขันธ์ห้าเป็นผู้ดำเนินการดูแลทั้งหมด ตามการบันทึกไว้ก่อนหน้านั้น นั่นแสดงว่า ไม่ได้มีเรามาตั้งแต่ต้น

   มีก็เหมือนไม่มี มีทุกอย่างอยู่รอบตัว แต่รู้ว่าไม่ได้มีสิ่งของเหล่านั้นจริงๆ เป็นความว่าง ว่างจากความเป็นตัวใคร เป็นของใครทั้งสิ้น แม้ขณะบริหารขันธ์ห้าอยู่ ก็ยังรู้ว่า ขันธ์ห้านี้ มิใช่ตัวตนจริงๆ จึงอยู่ในขันธ์ห้า โดยความไม่มีตัวตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว มีอยู่จึงเหมือนไม่มี



   ไม่มีก็เหมือนมี ความจริงตัวตน มันไม่ได้มีจริง มันเป็นกลไก เป็นการไหลไปของกระแสธรรมชาติตามเหตุปัจจัยของมันอย่างนั้นเอง แต่อุปาทานไปว่ามีตัว มีตนจริงๆ เอาความไม่มีจริง มารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วอุปาทานไปว่า “มีจริง”

   การที่จะไปคอยดับทุกข์ ในแต่ละสิ่งที่เกิดความแปรปรวนขึ้นแล้วนั้น แล้วทำให้เกิดทุกข์ ก็คงต้องตามทุกข์ ตามดับทุกข์กันอยู่ร่ำไป

   ดังนั้น เมื่อเราจับได้แล้วว่า หัวเรือใหญ่ ต้นตอของความทุกข์ ก็คือ อวิชชา ความไม่รู้ ที่ก่อให้เกิดอุปาทานขันธ์ห้า ก่อให้เกิดความมีตัวเราของเราขึ้นมา

   เพราะแก้ไขไม่ตรงจุด ความทุกข์จึงหลอกกินมานับภพนับชาติไม่ถ้วนนั่นเอง เหตุปัจจัยมันมากมายเหลือเกิน ที่จะเรียงหน้าเข้ามาให้ยึด เข้ามาให้ทุกข์ พอเกิดกลไกของขันธ์ห้าปรุงแต่งให้เกิดภาวะอารมณ์ต่างๆตามสิ่งที่มากระทบ ตัวอุปาทาน ก็มาคอยดักรอ เพื่อเอาคำว่า เรา ไปแปะติดกับอารมณ์เหล่านั้น ก็เลยเหมาเอาว่า เรากำลังมีอารมณ์สุข เรากำลังมีอารมณ์ทุกข์ มีอารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง ห่อเหี่ยวใจ นั่นเป็นเพราะอุปาทานมาคอยชี้นำเสนอให้ไปยึดเกาะอารมณ์ที่ปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัย ตามกลไกของขันธ์ห้า ที่มันไม่ได้มีใครไปปรุงแต่ง


   เช่นอากาศหนาวเย็นลง เซลล์ของรูปขันธ์ก็กระทบกับอากาศเย็น ก็ส่งข้อมูลไปที่สัญญา ว่าหนาวแล้ว สัญญาก็ส่งไปที่ความคิด ความคิดก็ปรุงแต่งว่าต้องหาเสื้อหนาๆใส่ แล้วรูปขันธ์ก็ไปหยิบเสื้อหนาๆมาสวม อารมณ์ก็สบายขึ้นเพราะไม่หนาวสั่นเหมือนเมื่อครู่นี้

   ขันธ์หามันทำงานกันเป็นทีม มันรับ มันส่ง มันจัดการทุกอย่างตามกลไกของขันธ์ห้า

   ถ้าออกมาดูทัน จะเห็นความมหัศจรรย์ของขันธ์ห้า ที่มันทำงานรับส่งกันต่อเนื่องตลอดเวลา





กินข้าว กระเพาะย่อย แยกโปรตีน แยกไขมัน แยกวิตามิน แล้วส่งไปตามส่วนต่างๆของร่างกายถูกต้องตรง ไม่มีใครไปคอยกำกับดูแล แต่มันทำงานของมันเอง มันเป็นกระแสที่ไหลไปตลอดเวลา ไม่ได้มีตัวใครอยู่ในนั้น

   ทั้งหมดทุกขั้นตอน ไม่มีใครปรุงแต่ง กายกระทบอากาศเย็น อากาศที่มันเย็น ตัวอากาศเองมันก็ไม่ได้ปรุงแต่งให้เย็น แต่มีเหตุปัจจัยมาผลักดันให้มันเย็นลง แล้วกลไกการบันทึกไว้ของเซลล์ผิวหนัง ตามสัญญาก็เคยจำไว้ว่า 25 องศาพอได้ ต่ำกว่านั้นทนไม่ไหว เมื่อหนาวมาก การรับรู้ทางรูปขันธ์ที่หนาวสั่นก็ส่งไปถึงอารมณ์ก็เลยเป็นเวทนาความทุกข์ ความคิดก็เริ่มปรุงแต่ง จึงต้องจัดการหาสิ่งมาปกป้องร่างกาย

   ทุกอย่างเป็นกลไกการป้องกันขันธ์ห้า ที่มันผลักดัน ที่มีโปรแกรมของมันอยู่แล้วตามขั้นตอน ซึ่งเป็นการบันทึกไว้สืบต่อกันมาของขันธ์ห้า มันทำงานของมันเอง เป็นขั้นตอนกลไกของมันเอง แต่ธาตุรู้ที่มีปัญญา ที่มีหน้าที่เป็นเพียงผู้ดู ผู้ที่มีหน้าที่มาตามดูว่า ขันธ์ห้ามันทำงานยังไง ในกลไกของมัน
   แต่ก็กลับไม่ดูเฉยๆ ทำเกินหน้าที่ ดันเสนอหน้าเข้าไปมีส่วนร่วม ตามการเชิญชวนของอุปาทาน จึงมีเราเป็นผู้หนาว มีเราหาเสื้อใส่ มีเราหายหนาว ทั้งๆที่ถ้าดูแล้วเห็นว่า กลไกของขันธ์ห้ามันหนาว แล้วมันก็หาเสื้อกันหนาวมาใส่ แล้วมันก็อุ่นสบายตามสไตล์ของมัน ก็จะไม่มีตัวเราผู้เข้าไปร่วมช่วยเหลือมันเลย มันทำเองได้ล้วนๆ

   เมื่อหัดปล่อยได้ในครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปสิ่งใดจะเข้ามากระทบ ปัญญาก็จะเกิด การพุ่งเข้าไปยึดว่าเป็นเราก็จะน้อยลง จะคอยมองดูว่าขันธ์ห้ามันจะจัดการกับสภาวะนั้นอย่างไร



   เชื่อเถอะว่า มันจัดการขันธ์ห้าของมันได้ แม้ไม่มีอุปาทาน ไม่มีตัวเราของเราเข้าไปเกี่ยวข้อง

   ตอนนี้รู้แล้วว่า ต้นเหตุของปัญหาก็คือ ตัวอุปาทาน คือ ความไม่รู้ คิดว่าเป็นตัวตน เป็นของตน แล้วไปหลงยึด เป็นต้นเหตุ



   เรามาดักรอ ดักตีให้ตรงจุด ดักตีให้ตรงตัวอุปาทานเลย จะดีกว่าไหม?

ขอเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจในกลไกของขันธ์ห้าสักเล็กน้อย การมีสติรู้เท่าทันกลไกของขันธ์ห้า เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะโดยปกติแล้ว คนเรามักจะคิดว่า เมื่อเราคิด ก็จะคิดว่าเราเป็นผู้คิด



                             คิดชอบ เราก็ชอบ
             
                             คิดรัก เราก็รัก

                             คิดโกรธ เราก็โกรธ

                             คิดน้อยใจ เราก็น้อยใจ


   จึงยังมีผู้รัก มีผู้เกลียด มีผู้สุข มีผู้ทุกข์ อยู่เรื่อยมา น้อยคนนัก ที่จะเฉลียวใจ มีสติรู้เท่าทันขันธ์ห้าว่า มันปรุงแต่งของมันไปตามเหตุปัจจัยที่เข้ามากระทบนั้น


   เมื่อเขาชม มันก็ปลื้ม เมื่อเขาว่า มันก็โกรธ เมื่อเขาไม่ตามใจ มันก็น้อยใจ นั่นมันเป็นธรรมดา เป็นกลไกของขันธ์ห้า ที่มันต้องปรุงแต่งของมันตามธรรมดาอยู่แล้ว

   มันเป็นธรรมดาของขันธ์ห้าที่มันต้องปรุงของมันอย่างที่มันเคยบันทึกไว้ มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง เห็นลูกก็รัก เห็นแฟนก็หวง เห็นดอกไม้ก็ชอบ เห็นคนไม่ถูกกันก็โกรธ บางครั้งเรายังไม่ทันรู้ตัวเลยว่า เห็นปุ๊บรักปั๊ป เห็นปุ๊ปโกรธปั๊ป นั่นหมายความว่า ขันธ์ห้ามันเคยมีการบันทึกไว้อย่างไร มันก็ปรุงแต่งไปอย่างนั้นทันที


   มันไม่ถามสักคำ ตากระทบ จำได้หมายรู้ ปรุงแต่ง แล้วเกิดอารมณ์ไปเลย บางครั้งเรายังไม่ทันตั้งใจเลย แต่มันปรุงไปเรียบร้อยแล้ว รอให้เราเข้าไปรับผิดชอบ ว่าเป็นของเรา อารมณ์ของเรา สุขของเรา ทุกข์ของเรา เรียกว่า รอให้ไปอุปาทานรับมันเข้ามาเป็นของเรานั่นเอง

   ความทุกข์ที่มันจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะไปรับอารมณ์ที่มันปรุงแต่งของมันเอง มาเป็นของเรา ไปรับผิดชอบอารมณ์ ความรู้สึก ที่มันปรุงแต่งของมันเองในกลไกของขันธ์ห้า มาเป็นของเรา นั่นเรียกว่า ไปอุปาทานเอามาเป็นของเรา จึงมีเราผู้สุข ผู้ทุกข์เรื่อยมา
ถ้ามันปรุงอารมณ์พอใจ เข่าข่ายเรียกว่าสุข ก็เลยนึกว่าเราเป็นผู้สุข

ถ้ามันปรุงอารมณ์ไม่พอใจ น้อยใจ ก็ไปรับเอามาเป็นเราผู้มีความทุกข์



   แต่หากรู้เท่าทัน มันปรุงแต่งเกิดอารมณ์ขึ้นมา น้อยใจ ไม่พอใจ ตามกลไกที่มันปรุงของมันอยู่แล้วตามการกระทบเหตุปัจจัยนั้นๆ แล้วเห็นมันตามความเป็นจริง ว่ามันก็ปรุงแต่งไปอย่างนั้นตามเรื่องตามราวของมัน เรียกว่ามีสติรู้เท่าทันขันธ์ห้า ที่มันปรุงแต่งอารมณ์ของมันไปอย่างนั้นเอง

   ก็จะมีผู้ดูอารมณ์เหล่านั้นที่เกิดในขันธ์ห้า

   ดูอย่างเป็นผู้ที่ดู แล้วรู้เท่าทัน ก็จะมีขันธ์ห้า กับผู้ที่ดูขันธ์ห้ากำลังปรุงแต่งอารมณ์เหล่านั้น

   ทั้งๆที่ยังไม่พอใจ ยังมีความกรุ่นอยู่ก็ตาม เมื่อเห็นอารมณ์เหล่านั้นแล้ว แม้มันจะยังเกิดอยู่ แต่ก็จะไม่มีใครไปรับผิดชอบทุกข์ของมัน ทุกข์ของขันธ์ห้า ก็จะแค่เห็นมัน ดูมันเกิดขึ้น แล้วดูซิว่า มันจะมีหน้าตั้งอยู่ในอารมณ์นั้นสักกี่นาที


   นี่ต่างหาก ที่เป็นกลไก ที่มันเกิดขึ้นแต่ไม่มีใครทุกข์ ดูให้เห็นความเป็นอย่างนั้นเองของขันธ์ห้า ที่ไม่มีใครบังคับบัญชามันได้ มันมีแต่คิดให้สุข ให้ทุกข์อยู่เรื่อย

   มันคิดเอง มันหดหู่เศร้าหมองเอง มันทำกลไกของมันเอง ไม่ได้มีใครไปทำให้มันเกิด มันเกิดเอง ปรุงเอง และเกิดอารมณ์สุขทุกข์เบ็ดเสร็จในตัวมันเอง
   ถ้าเห็นว่า มันเป็นขันธ์ห้า ไม่ได้มีใครไปทำ มันก็ปรุงแต่งของมันเองได้ แค่ถอยอออกมาดู มาเห็นการทำงานตามกลไกของขันธ์ห้าแล้ว ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอารมณ์เหล่านั้น เห็นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไปของมันเอง

   อย่าให้อุปาทานไปหลอกว่า มีตัวเราเป็นเจ้าของอารมณ์ แล้วเข้าไปรับผิดชอบอารมณ์เหล่านั้นก็พอ นั่นเรียกว่า ถอดสลัก จากอุปาทานขันธ์ห้า
   ทั้งๆที่เกิดอารมณ์สุขทุกข์อยู่ แต่ไม่ได้มีใครเป็นผู้สุขทุกข์ คือไม่มีเราในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่ใช่เรา และอารมณ์เหล่านั้นก็ไม่ใช่ของเราไปด้วย เมื่อมีสติเห็น รู้เท่าทันขันธ์ห้า รู้เท่าทันอารมณ์เหล่านั้น นั่นก็คือ อยู่เหนือความคิด อยู่เหนืออารมณ์ อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ทั้งมวลนั่นเอง
   สัจธรรม คือความเป็นจริงของธรรมชาติ มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีบางแยก หากมีความเข้าใจ ความเป็นจริงของธรรมชาติแล้ว จะทำให้มีมุมมองที่ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่มีการไปชี้ผิดชี้ถูกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นรากฐานให้เกิดความทุกข์ เพราะความเห็นผิด ความไม่เข้าใจในธรรมชาตินั่นเอง
   ดังนั้น การที่จะมุ่งเข้ามาดูแต่ในขันธ์ห้า มาเรียนรู้ขันธ์ห้า ที่มันยังมีอุปาทานเต็มเปี่ยมว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆเรา ก็ยากลำบากอยู่แล้ว ต้องมีสติคอยดู คอยมอง ให้รู้เท่าทันว่ามันคิดอะไร รู้สึกอะไร และมีอารมณ์อะไรในแต่ละขณะ เพื่อที่จะได้รู้เท่าทัน ไม่ไปยึดมั่นในอารมณ์เหล่านั้น ให้เกิดทุกข์ขึ้นมา

   แค่คอยดูขันธ์ห้า คอยศึกษา คอยพิจารณาเพื่อไม่ให้ไปอุปาทานว่าเป็นของเรานั้น แค่นี้ก็ยากลำบากอยู่แล้ว แค่ตามดูการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยในขันธ์ห้าก็หมดเวลาแล้ว จะให้ส่งจิตออกไปด้านนอก ไปนำสิ่งรอบข้างเข้ามาพิจารณา ไปตัดสินบุคคลอื่นๆมากมายที่อยู่ภายนอก อยู่รอบข้าง แล้วขึ้นลงไปตามความเห็นของตนเองที่นำไปตัดสินเขาเหล่านั้น ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนไปตามวิบากของแต่ละคนอยู่แล้ว

   เหตุใด เราจะยังไปเสียเวลา เอาเขาเหล่านั้นมาพิจารณา เพื่อเพิ่มความทุกข์เข้าไปในตัวเราอีกเล่า แค่ภายในของเรา ความทุกข์ที่ขันธ์ห้าคอยแต่จะปรุงแต่งใส่มาให้ก็มากมายเกินจะรู้เท่าทันอยู่แล้ว ผู้รู้ จะไม่ส่งจิตออกนอก ไปตัดสินสิ่งภายนอกที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ จะดูแค่ภายใน ว่าเกิดภาวะอะไรในแต่ละขณะ แล้วเพียรศึกษาให้รู้เท่าทันขันธ์ห้าในปัจจุบัน ก็จะสามารถเบาบางจางคลายจากความทุกข์ได้ในปัจจุบัน




   ผู้ไม่รู้ ย่อมเห็นผิด ย่อมส่งจิตออกนอก ไปรับเอาเรื่องราวต่างๆของทุกสรรพสิ่ง เข้ามาเป็นมูลเหตุให้ขันธ์ห้ามันปรุงแต่งมากเข้าไปอีก จึงทำให้การมองด้านในของตัวเอง มีเวลาน้อยลง เพราะการปรุงแต่งในเรื่องที่รับเข้ามานั้นเอาเวลาไปหมด เรียกว่า ไม่ได้เห็นการปรุงแต่งของขันธ์ห้าตามความเป็นจริง ไปอุปาทานรับเอาทุกเรื่องที่มันปรุงแต่งมาเป็นตัวเรา เป็นความคิด ความรู้สึกของเราทั้งหมด จึงมีแต่ความทุกข์ ความเครียด ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เพราะไปห่วงใยแทนคนอื่นๆเ รียกว่า ห่างไกลจากการมองเห็นการปรุงแต่งของขันธ์ห้าในปัจจุบัน อย่างยิ่ง

   เรียกว่า ไม่ได้เห็นขันธ์ห้าของตนเองเลย เห็นตาขันธ์ห้าของคนอื่น ที่เขาก็ต้องเป็นของเขาอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยของเขา เรียกว่าเสียประโยชน์ตน เพิ่มทุกข์ให้ตัวเองมากขึ้นไปอีก เพราะไปแบกรับภาระที่ไม่ใช่เรื่องเข้ามา

   จึงไม่เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ ไม่เห็นขันธ์ห้าของตน ตามความเป็นจริงที่มันกำลังปรุงแต่งในปัจจุบัน การรู้เท่าทันจึงยังไม่มี
จึงยังต้องทนทุกข์ และต้องหาทางดับทุกข์กันเรื่อยไปนั่นเอง



ภารกิจทางโลก ทุกๆคนได้เคยพานพบ ได้เคยผ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หลายภพ หลายชาติ ความโศกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความทุกข์ ความสุข คละเคล้าปะปนกันหลายหมื่นหลายแสนชาติ นับภพนับชาติไม่ถ้วน จนน้ำตามากมายกว่าน้ำในมหาสมุทรแล้ว จึงมิใช่เป็นการเสียใจ เป็นการร้องไห้ครั้งแรกของพวกเราทุกคน

   หากมองด้วยสายตา เสมือนว่านี่เป็นของใหม่ เหตุการณ์ใหม่ เราพอเจอความเสียใจครั้งใหม่



   หากมองด้วยปัญญา จะเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องใหม่เลย มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว มันซ้ำซากจำเจ มันหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่เคยมีชาติไหน ภพไหน ที่ไม่ทุกข์ เพียงแต่ว่าสัญญามันไม่ต่อเนื่องข้ามภพข้ามชาติมาด้วยเท่านั้น จึงมีเราคนใหม่ เขาคนใหม่ ครอบครัวใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นของใหม่ ที่น่ายึดถือ น่ายินดีปรีดาทั้งสิ้น


   แต่เปล่าเลย ภพชาติที่ผ่านมา ก็มีเรา มีเขา มีครอบครัวของเรา ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกเยี่ยงนี้เหมือนกัน แล้วภพชาติก่อนหน้านั้น ก็มีเรา มีเขา มีครอบครัวของเรา มีความสำคัญ มีความรู้สึกห่วงหาอาทรเหมือนขณะนี้ เช่นกัน แล้วย้อนไปในชาติภพที่ลึกลงไปกว่านั้น ก็ยังมีเรา มีเขา มีครอบครัวของเราที่ให้ห่วงหาอาทรอยู่อีก หรือหากลึกลงไปอีก ก็ยังคงมีอยู่อีก มีอีก มีอีก เพราะได้ผ่านมาแล้วมากมายจนนับไม่ถ้วน



   หากเราเกิดมาแสนชาติ ก็ต้องมีพ่อแม่แสนคน มีพี่น้องหลายแสนคน มีสามี ภรรยา นับแสนๆคน ต้องมีความทุกข์ โศกเศร้าเสียใจ ร่ำไรรำพันเช่นนั้นนับเป็นแสนๆล้านๆครั้ง เพราะคนที่เรารักย่อมจากเราไปในทุกชาติ

   ชาตินี้ก็จริง ชาตินั้นก็จริง ชาติโน้นก็จริง ทุกชาติจริงหมด จริงในจิตของผู้ที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ที่ยังต้องเวียนเกิด เวียนตาย หาที่สิ้นสุดมิได้ มีชาติไหนบ้าง ที่เกิดเป็นมนุษย์แล้วไม่ห่วงหาอาทร ไม่รัก ไม่ห่วงใย ไม่เสียใจกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป

   ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกภพ ทุกชาติ หากยังไม่จางคลายจากอุปาทานขันธ์ห้า ย่อมให้ความรู้สึกทุกข์เช่นนี้เสมอมา

   ตลอดระยะทางอันยาวไกล การเดินทางในสังสารวัฏที่นับไม่ถ้วนผ่านมาแล้ว แต่ทางที่จะต้องเดินต่อไปอีกยาวไกลไปในสังสารวัฏนั้น ก็ยังไม่เห็นจุดหมายปลายทางเสียที จึงยังต้องวนเวียนเดินกันต่อไปอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วนเช่นกัน

   ตราบใดที่ยังไม่ละจากอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ก็ยังจะต้องมีการเกิดมา มีการดำรงอยู่ แล้วมีการตายไป เพื่อที่จะเกิดมาใหม่ แล้วหมุนเวียนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง

   ขอให้ระลึกถึงธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนของตน เพราะเป็นธรรมโอสถ เป็นยาที่รักษาโรคอุปาทานขันธ์ห้า ซึ่งเป็นโรคร้ายให้หายขาดได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเวียนเกิดเวียนตายกันต่อไปอีก

   ดังนั้น แม้พบเจอความทุกข์ที่ดูเหมือนจะหนักหนามากมายในความรู้สึกของปุถุชนทั่วไป แต่ถ้ามีสติระลึกรู้เท่าทันขันธ์ห้า เห็นความเป็นอย่างนั้นเองของทุกสรรพสิ่งที่ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ
ความทุกข์ก็จะเบาบางลง ตามการยึดมั่นถือมั่นที่เบาบางนั่นเอง





จบ
ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตนชุดที่ 1
บรรยายโดย
อาจารย์สุดใจ   ชื่นสำนวน

 
 
แต่ไม่ใช่เห็นแล้วอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง จะดับลงในตอนนั้น มันไม่ดับหรอก มันก็ยังคงมีอารมณ์นั้นอยู่ แต่ขณะที่ระทมด้วยความเศร้าหมอง แต่จะไม่ได้มีใครทุกข์กับอารมณ์นั้นจริงๆ แค่มองเห็นแล้วชำเลืองดูมันแค่นั้น ไม่นานมันก็ต้องหายไปอยู่ดี เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ไม่นาน มันก็ต้องดับไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น