วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน ชุดที่ 2

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน ชุดที่ 2
บรรยายโดย
อาจารย์สุดใจ ชื่นสำนวน




การมองทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้






   หากมองด้วยอวิชชา คือความไม่รู้จริง จะเห็นว่าทุกสรรพสิ่ง ทุกสรรพวิชชา จะมีความสำคัญทั้งหมด น่าอยากได้ใคร่ดี น่าเอา น่าเป็นไปเสียทั้งหมด ทุกศาสตร์ ทุกสิ่ง ทุกอิทธิปาฏิหาริย์มีความน่าสนใจ น่าค้นคว้า น่าจะหาเอามาเพื่อประดับอัตตาทั้งสิ้น เท่าไรก็ไม่พอ

   หากมองด้วยวิชชา ด้วยปัญญาไตร่ตรองตามคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว จึงจะมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสรรพสิ่ง มันเป็นของมันอย่างนั้นเองมานานแล้ว มันมีทุกอย่างอยู่ในกลไกของธรรมชาติ ฤทธิ์เดชอิทธิปาฏิหาริย์ มันมีมาเนิ่นนานควบคู่กับจักรวาลทั้งปวง มิใช่ของใหม่ใดๆ ผู้ที่มีความเข้าใจ ปฏิบัติถึงกลไกของธรรมชาติ ก็ย่อมเกิดฤทธิ์เดช เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ขึ้นได้เสมอ ตั้งแต่ครั้งโบราณมาแล้ว ฤๅษี พราหมณ์ นักพรต เก่งกว่า ปาฏิหาริย์กว่า อิทธิฤทธิ์มากกว่าเราๆผู้มาทีหลังทั้งสิ้น




   แต่ก็ยังต้องเวียนเกิด เวียนตาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
   ทุกอย่างมีได้ เป็นได้ แต่ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารอีกเนิ่นนานเหลือเกิน





แต่ผู้รู้ ผู้เห็นด้วยปัญญา ท่านจะไม่สรรเสริญ ถึงมี ถึงได้ ท่านก็ไม่ยินดี ท่านมุ่งหวังที่จะออกจากวัฏสงสาร เข้าสู่ความเป็นผู้ไม่ต้องมาเวียนว่ายในสังสารวัฏอีกเท่านั้น ทุกสิ่งมีได้ และเคยมี เคยได้กันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าฤทธิ์เดชใดๆ มีมากันแล้วทั้งนั้นในภพชาติอเนกอนันต์ที่ผ่านๆมา เรื่องอื่นๆเป็นเรื่องเก่า เรื่องเดิมๆ เรื่องที่เคยมี เคยเป็นมาก่อนทั้งสิ้น จึงยังต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่อย่างนี้

   แต่การหลุดพ้น การบรรลุธรรม เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยทำได้มาก่อน การเบาบาง การละวางจากอุปาทานขันธ์ห้า ยังไม่เคยจางคลายได้จริง นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องใหม่ ที่ควรจะใส่ใจศึกษาให้รู้แจ้งเห็นจริง แล้วควรทำให้ได้ในชาติปัจจุบันนี้...


   จะได้ไม่ต้องเกิดมา เพื่อศึกษาขันธ์ห้ากันอีก


   หากยังมีอุปาทาน ยังมีความเห็นที่ไม่ถูกต้อง หลงยึดมั่นถือมั่นว่า มีตัวเรา เป็นตัวเรา เป็นของๆเราอยู่ ต่อให้เร่งเดินเท่าไร เพียรมากมายแค่ไหน ก็เหมือนกับยิ่งเดินห่างไกลออกไปจากแก่นแท้ของธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีผู้มาแนะนำ เมื่อมีผู้มาชักชวน เมื่อมีผู้ชี้ทางให้เดิน ผู้ที่มีปัญญา ก็ควรต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด ต้องนำไปเทียบเคียงกับธรรมะของพระพุทธองค์ให้แน่ใจก่อนว่า ทางที่มาบอก ทางที่มาชี้ ทางที่มาแนะนำให้เดินไปนี้ เป็นไปเพื่อการละวาง เป็นไปเพื่อการจางคลายจากการยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ห้าหรือไม่ เป็นไปเพื่อการปล่อยวาง เป็นไปเพื่อเห็นความว่างจากการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของตนหรือไม่

   ถ้าการใด ทำไปแล้ว ปฏิบัติไปแล้ว ไม่มีความเบาสบาย ไม่จางคลายจากทุกข์ได้จริง ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งยึดมากขึ้น ยิ่งสะสมมากขึ้น ยิ่งแบกหนักขึ้น ก็อย่าเดินไปไกล เพราะยิ่งเดินไปไกลก็จะยิ่งหนัก ต้องรีบหยุดไว้ก่อน แล้วหันมาพิจารณาไตร่ตรองในธรรมะที่เป็นแก่นแท้อีกครั้ง ว่าสอนไว้อย่างไร ซึ่งจุดมุ่งหมายคือ เป็นไปเพื่อการปล่อยวาง การละอุปาทานขันธ์ห้า การละอัตตาตัวตน ทั้งสิ้น ไม่ได้ให้ไปหา ให้ไปยึด ให้ไปเพิ่มอัตตา ให้ไปสะสมอุปาทานให้มากขึ้น

   ของเก่า ที่ยังมีอยู่ในขันธ์ห้า ที่ติดตามมาตลอดนั้น ความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานที่ติดตามมาหลายภพหลายชาตินั้น ยังเอาออกไม่หมดเลย ยังต้องเพียรเพื่อจะละ เพื่อจะวางจากการยึดมั่นถือมั่นให้ได้ ยังต้องเพียรเพื่อละอยู่ทุกวัน

   แล้วจะไปเอาอุปาทานของใหม่เข้ามาอีก เอามาเพิ่ม เอามาแบก เอามายึดถือไว้อีก แล้วเมื่อไรจะเบาสบายกันเสียที

มองให้เป็นจะเห็นความว่าง





   เชื่อแน่ว่า ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ได้เดินทางเข้าสู่สายแห่งธรรม ย่อมเป็นผู้ที่ปรารถนาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งสิ้น เป็นผู้ปรารถนาที่จะพ้นจากกรรม วิบากกรรม พ้นจากการต้องมาเวียนว่ายตายเกิดทั้งสิ้น แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า จะมีปัญญาแยกแยะได้เท่าใด ว่าอันไหนของจริง อันไหนของปลอม ทางไหนตรง ทางไหนอ้อม ทางไหนเป็นแก่น ทางไหนเป็นกระพี้ เป็นเปลือก เป็นใบ

   ก็ต้องลองผิด ลองถูก ลองไปศึกษากันมานานาสำนัก ก็เพื่อหาทางที่จะค้นพบทางที่เป็นแก่น จะได้ปฏิบัติได้ตรง ได้เร็ว และพ้นจากทุกข์กันเสียที

   นี่เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ต้องใช้ปัญญาอย่างยิ่งยวด เพราะการลวงล่อในรูปแบบที่น่าศรัทธาต่างๆนานา มีมากมาย ยากที่จะพิจารณาให้ถึงแก่นแท้ได้อย่างแท้จริง

        แต่มิใช่ว่า การพิจารณาเลือกเดินในทางสายใดสายหนึ่ง วิชาใด วิชาหนึ่ง สำนักใดสำนักหนึ่ง เป็นสิ่งที่ผิด หรือถูก

   นั่นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามอินทรีย์ที่แก่กล้า ตามพละกำลังปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง ของบุคคลนั้นๆต่างหาก ที่จะมีความพร้อมเท่าใด

   ดังนั้น การที่จะเข้าไปกลางแก่นของต้นไม้ ก็ต้องผ่านใบ ผ่านเปลือก ผ่านกระพี้ ของต้นไม้เหล่านั้นไปก่อน จึงจะมองเห็นแก่นของต้นไม้ได้ เราทั้งหลายก็เช่นกัน ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านการก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้น ทีละขั้น จึงจะสามารถมองเห็นภาพรวมของเส้นทางที่เราเดินผ่านมาได้ ถ้าไม่มีบันไดขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 เราก็ไม่อาจขึ้นมาสู่ขั้นที่ 4 ขั้นที่ 5 ได้เลย

   ดังนั้น บันไดแต่ละขั้น ธรรมะแต่ละศาสตร์ แต่ละสาย แต่ละวิธี ก็เป็นบันไดพื้นฐาน เพื่อการก้าวไปหาแก่นแท้ หาการปล่อยวางทั้งสิ้น

   ดังนั้น อย่าได้ไปมองคนที่กำลังก้าวขึ้นมาขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ว่ายังหลง ยังยึด ยังไม่ถูกทาง นั่นเป็นการมองที่จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ จะทำให้ตนเองเป็นทุกข์ ดังนั้น

ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงถูกต้อง (ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ) ซึ่งเป็นการป้องกันการมองโดยการเปรียบเทียบ


ว่าเราดีกว่าเขา เขาดีกว่าเรา หรือเราเสมอกับเขา เพราะทุกคนมีเหตุปัจจัยต่างกัน จึงมีปัญญา มีการพิจารณา มีการไตร่ตรอง มีภูมิธรรมไม่เท่ากัน

   แต่มิได้หมายความว่า เขาเหล่านั้น จะยังวนเวียนอยู่แต่ตรงจุดนั้นตลอดไป




เหมือนกับเมื่อเราอยู่ชั้น ป.2 เราอาจจะบวกเลข ลบเลขพอได้ แต่เรายังเพิ่งหัดใช้การคูณเลข เรายังไม่เป็น เรายังทำไม่คล่อง
   หากพี่เราที่อยู่ชั้น ป.5 มาสอนเรา ก็จะบอกว่า ทำไมสอนไม่จำ ทำอย่างนี้ คูณอย่างนี้ ไม่เห็นยากเลย ง่ายจะตายไป

   แต่สำหรับเรา สำหรับเด็ก ป.2 มันยากมากเลย

   เด็ก ป.5 ก็กำลังยากในการเรียนสูตร เรียนตรีโกณ ถอดสแควรูท หรืออะไรต่อมิอะไรที่ครูเพิ่งเริ่มสอน จึงยากสำหรับเด็ก ป.5 คนนั้น

   แต่ถ้าพี่อีกคน ที่เรียนชั้นมัธยม ก็อาจจะบอกว่า ไม่เห็นยากเลย แค่ทำอย่างนี้ อย่างนี้ แค่นี้ก็ทำไม่ได้

   จะเห็นได้ว่า สามคนนี้ อยู่ในสภาวะที่ต่างกันโดยพื้นฐาน ตามสภาวะทางโลก ที่กำลังดำเนินอยู่ มีสภาวะของการศึกษาที่ต่างกัน แต่น่าแปลก ..ที่มีมุมมองเหมือนกัน

   นั่นคือมองว่า เราดีกว่าเขา เราฉลาดกว่าเขา เรารู้มากกว่าเขา ซึ่งเป็น

การมองโดยมีตัวเองเป็นตัวตั้ง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แล้วเอาผู้อื่นมาเทียบ ถ้าเรารู้มากกว่า เราดีกว่าเขา ก็จะมีความหยิ่ง ดูถูกคนอื่น


ถ้าเขารู้มากกว่าเรา ก็จะหดหู่หม่นหมอง เพราะสู้เขาไม่ได้ เสียใจ ริษยา อยากเอาชนะ

   แต่ทุกคนคิดถูกต้อง ตามกำลังปัญญา ตามการยึดมั่นถือมั่นแต่ละคน และทุกคนก็จะได้รับความทุกข์ ความน้อยใจ เป็นของแจกของแถม ตรงไปตรงมาเช่นกัน

   แต่ถ้ามองให้เป็น จะเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ว่าน้องคนเล็กอยู่ ป.2 เขายังคูณเลขไม่ค่อยได้ นั่นเพราะเขายังอยู่ ป.2 เขายังไม่ได้เรียนถึงชั้น ป.5 เขาจึงยังไม่เข้าใจการคูณเลขนั่นเอง ไม่ใช่เขาโง่ แต่เพราะเขายังเรียนไม่ถึงชั้น ป.5 ถ้าเขาเรียนถึง ป.5 เขาอาจจะเรียนเก่งเลขมากกว่าพี่ในขณะนี้ก็ได้ คนที่อยู่ ป.5 แม้จะเก่งกว่า ป.2 แต่ก็ยังทำการถอดสูตร ถอดสแควรูทไม่ได้ ก็ถูกพี่ที่เรียนมัธยมดูถูกเอา หาว่าโง่ ไม่จำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเด็ก ป.5 จะโง่กว่าคนเรียนมัธยม แต่เพราะเขายังเรียนไปไม่ถึง เขาจึงยังไม่รู้นั่นเอง

   หรือคนที่เรียนมัธยม ชั้นสูงที่สุดในบ้าน เขาก็อาจมีความทุกข์ที่ถูกรุ่นพี่ปริญญากระทบเอา ว่าสอนไม่จำก็เป็นได้

   ที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อให้มองให้รอบว่า

ไม่มีใครโง่ ไม่มีใครฉลาด ไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่เป็นเพราะแต่ละคนอยู่ในสภาวะที่ไม่เท่ากัน


มีความรู้มีการศึกษาที่ไม่เท่ากัน และเพราะความไม่รู้ จึงไปหลงยึดในความไม่รู้นั้นว่า เป็นตัวเรานั่นเอง ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เกิดการเปรียบเทียบ เกิดอัตตาตัวตนขึ้นมา

   การเปรียบเทียบอย่างนี้ ก็พอจะมองออก พอจะเห็นภาพได้ แต่หากเป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน จะมองยาก เพราะแต่ละคน ไม่อาจรู้ภูมิธรรมของอีกคนหนึ่งได้ อย่างดีก็ได้แค่ประมาณเอา จึงไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะไปคาดคะเน ไปนึกคิดเอาเอง แต่ถ้าเห็นว่า เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้นเอง ตามเหตุปัจจัยของเขาเหล่านั้น ก็จะตัดความวุ่นวาย ในการไปพิจารณาคนอื่น แทนที่จะมาพิจารณาขันธ์ห้าของตนเอง

   คนเดียวก็เสียเวลาไปมากแล้ว ในการไปเอาเขามาพิจารณา แล้วถ้ามี 2 คน 5 คน 10 คน 20 คน หรือมากกว่านั้น จะยิ่งเสียเวลาในการพิจารณาขันธ์ห้าคนอื่นมากขึ้นไปอีก


ดังนั้น การที่จะบอกธรรมะ การที่จะยื่นห่วงไปให้แก่ขันธ์ใดๆ หากบอกไปแล้วเขาเชื่อ หรือบอกไปแล้วเขาไม่เชื่อ ก็ให้วางลงเสีย อย่าได้เยื่อใย ยื่นห่วงไปให้เขาเหล่านั้น เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับปัญญาในการไตร่ตรองของแต่ละภูมิธรรมนั้นๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากบัว 4 เหล่าไปได้



ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังสงสัยว่า คนนั้นทำไมเป็นอย่างนี้ คนนี้ทำไมเป็นอย่างนั้น คนนั้นทำไมใจดี คนนี้ทำไมใจดำ จึงควรหมดข้อสงสัย เพราะทุกอย่างมีเหตุปัจจัยส่งเข้ามาเป็นอย่างนั้น เพราะความไม่รู้ที่ยังไม่ได้ถูกขัดเกลาด้วยธรรม เขาจึงเป็นอย่างนั้นตามเหตุที่ทำไว้นั่นเอง


ถ้ามองผิดมุม ความทุกข์ก็ถามหา ความริษยาก็เกาะกิน

ถ้ามองถูกมุม ก็จะเห็นความเป็นอย่างนั้นเองของทุกสรรพสิ่ง การที่จะส่งจิตออกนอกไปตัดสินใคร จะเริ่มน้อยลง



จะเริ่มอยู่ภายในมากขึ้น ก็เท่ากับได้ธรรมะไป 1 ข้อ คือ

ไม่ส่งจิตออกนอก เพราะไม่รู้จะส่งออกไปทำไม ทุกอย่างล้วนถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นๆอยู่แล้ว

เพราะการมุ่งแต่ไปพิจารณาขันธ์ห้าของผู้อื่น ก็จะมีแต่ความอึกอัด ขัดข้อง ไม่ถูกอกถูกใจ เสียเวลาไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเราๆท่านๆได้เคยเสียเวลาเช่นนี้มานับกัปนับกัลป์แล้ว ก็ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ที่มุ่งแต่ไปพิจารณาขันธ์ห้าอื่นๆรอบตัวนั่นเอง
สุญญตาสูตร



โลกทุกใบ ถูกลบหายไปด้วย “ความว่าง”
เมื่อสัมผัสอารมณ์หลากหลายด้วย
“สติสัมปชัญญะ”
ความทุกข์ทั้งปวง ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้



ดังนั้น ในสถานการณ์ที่เราเคยคิดว่าคับขัน น่าทุกข์ น่ากังวล น่าขุ่นข้องหมองใจ เราก็ควรฉกฉวยประโยชน์ตน จากสถานการณ์นั้นๆ เพื่อให้เห็นอีกด้านที่คาดไม่ถึง เช่น อ่านข้อความแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ให้มองย้อนกลับเข้าไปในขันธ์ห้า ที่กำลังคิดกลับไปกลับมานั้น แล้วเห็นให้ได้ ว่ามันกำลังคิดอะไร ปรุงแต่งแบบไหน และมันรู้สึกอย่างไรกันแน่

   เพราะขันธ์ห้านี้ เป็นขันธ์ที่เรามองเห็นได้ ปล่อยวางมันได้ สอนมันได้ ต่อให้มันคิดอะไรต่อมิอะไร มากน้อยแค่ไหน เกิดอารมณ์อย่างไร มันก็วนอยู่ในขันธ์ห้าขันธ์นี้ มิได้ไปวนอยู่ในขันธ์ห้าของใครๆเลย

   เราจึงต้องรู้วิธีถอยห่างจากไฟ ที่มันลุกอยู่ใกล้ๆเราก่อนดีกว่า ถ้าเห็นได้ ถ้าวางได้ ถ้าละการปรุงแต่งในขันธ์ห้านี้ได้ โลกทั้งใบ ก็อยู่ในขันธ์ห้า ...ขันธ์นี้เท่านั้น

   คิดถึงอเมริกา ก็คิดในขันธ์ห้านี้
   เห็นเมืองฝรั่งเศส ก็เห็นผ่านขันธ์ห้าขันธ์นี้
   หรือแม้จะรัก จะเกลียด จะโกรธ จะห่วงใยพ่อแม่ ลูกเมีย ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในขันธ์ห้า ของแต่ละท่านนี่ ที่ปรุงแต่งเองทั้งหมดเลย ไม่ได้ไปปรุงแต่งในขันธ์ห้าของใครทั้งสิ้น

   ถ้าเข้าใจกลไกของขันธ์ห้า ถ้าไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ห้าที่กำลังล่อหลอกให้เข้ามาติดกับ แล้วยอมรับอารมณ์นั้นๆว่าเป็นของตนแล้วไซร้
   ความสุข ความทุกข์ มันก็เกิดขึ้นได้แค่ในขันธ์ห้าเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับใครเลย หากอยู่เหนือขันธ์ห้าของท่านเองได้ ท่านก็ย่อมอยู่เหนือโลกธรรม 8 ได้เช่นกัน

   เพราะโลกธรรม 8 ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ มันถูกปรุงแต่งออกมา จากขันธ์ห้าของท่านเอง

   หากทุกคนมุ่งเน้นพิจารณาในขันธ์ห้าของตนเท่านั้น โดยไม่มุ่งเน้นที่จะไปพิจารณาขันธ์ห้าของบุคคลอื่น ก็จะไม่มีอคติด้วยเห็นว่าบุคคลอื่น ผิดถูกดีชั่ว จะไม่มีการนำสิ่งหนึ่ง ไปเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่ง จะไม่มีความเห็นที่แตกต่าง หรือแตกแยก เพราะธรรมชาติมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีแบ่งแยก ทุกสรรพสิ่ง ล้วนเป็นธรรมชาติเดียวกัน มิได้เป็นตัวใครของใครทั้งสิ้น อยู่ที่ว่า ใครจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

   การมีความเข้าใจในกลไกของธรรมชาติ การมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ การมีมุมมองที่ถูกตรงตามหลักของธรรมชาติเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะเปิดมุมมองที่ให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสรรพสิ่ง หากมีความเข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีการเทียบเคียงใดๆทั้งสิ้น ไม่มีเราดีกว่าเขา ไม่มีเขาดีกว่าเรา ไม่มีเราเสมอเขา และไม่มีความเห็นที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เรา เขา ทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ตามกลไกของธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ได้มีใคร อยากที่จะเป็นอะไร อะไร แล้วเลือกได้ตามที่ใจต้องการ

   ทุกคนเกิดมาตามกรรม ตามวิบากกรรมที่ส่งมา อยู่ในแบบฟอร์มขันธ์ห้าไหนๆ ก็ต้องดำเนินไปตามแบบฟอร์มนั้นๆ อยู่ในแบบฟอร์มของนกก็จะบินได้ หากินหนอนแมลง ข้าวเปลือก ดำเนินชีวิตไปตามกลไกของธรรมชาติ





การได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว เพราะเป็นแบบฟอร์มเดียว ที่สามารถออกจากทุกข์ได้ พ้นทุกข์ได้ เพราะสามารถมีสติปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง มีการปฏิบัติเพื่อละอัตตาตัวตน เรียนรู้กลไกขันธ์ห้า จึงมีโอกาสหลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ห้าได้

   นอกนั้น แบบฟอร์มอื่นๆ ไม่มีโอกาสพ้นทุกข์ได้เลย
การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง




ยิ่งเกิดเป็นสัตว์ทั้งหลายนั้น ถือว่าเกิดมาใช้กรรมทั้งสิ้น เพราะเกิดมาแล้วมีแต่สัญชาตญาณเท่านั้น ที่ผลักดันให้ดำเนินชีวิตไป ไม่อาจแยะแยะได้ ไม่อาจหยุดคิด หยุดไตร่ตรอง ผิดถูกดีชั่วได้ จึงเพียงดำเนินชีวิตไปตามกลไกของขันธ์ห้า ตามสัญชาตญาณตามแบบฟอร์มนั้นๆ โอกาสที่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จะเลือกทางเดินเองนั้น แทบจะไม่มีเลย

   เราจึงควรเข้าใจพวกเขา เห็นใจพวกเขา เมตตาพวกเขา มองเห็นความเป็นจริงในธรรมชาติของพวกเขา แล้วความอคติ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เข้าใจ จะหมดไปทันที นี่เป็นพื้นฐาน เป็นมุมมองที่คนทั่วๆไป ที่ยังเห็นว่ามีตัวตนเรา มีตัวตนเขา มีคน มีสัตว์ แบ่งแยกกันไป ควรนำมาพิจารณาเพื่อเปลี่ยนมุมมองก่อน จะได้มีความเบาสบายในระดับหนึ่ง

   สัตว์เหล่านั้น เขาก็เกิดมาตามกรรม ตามวิบากที่ส่งเขามาเกิดตามแบบฟอร์ม เขาเลือกไม่ได้เช่นกัน เกิดมาเป็นหนอน เป็นไส้เดือน เป็นกิ้งกือ เป็นสัตว์น่าขยะแขยง ใครเห็นก็ไม่อยากเข้าใกล้ เขาอาจเคยเป็นมนุษย์มาก่อนก็ได้ แต่ใช้ความสวย ความหล่อ หลอกล่อบุคคลอื่น ไปสร้างกรรม วิบากกรรม หลอกลวง หรือสร้างกรรมใดๆ ใช้กรรมแล้ว เหลือเศษกรรมก็ต้องมาเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างน่าเกลียด น่าขยะแขยง ใครเห็นแล้วก็ไม่อยากเข้าใกล้ เพราะน่าขยะแขยง




ทั้งๆที่สัตว์เหล่านั้น มันก็ไม่ได้ทำอันตรายใครได้เลย หนอนก็หากินของมัน ไส้เดือนก็หากินแถมยังพรวนดินให้กับมนุษย์อีก กิ้งกือ ก็แทบจะไม่ได้ทำอะไรให้ใคร มันดำเนินชีวิตของมันไปตามปกติ สัตว์เหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรให้ใคร แต่คนไปเกลียดมันเอง เพราะมันเกิดมาตามแบบฟอร์มที่ต้องใช้วิบากของมัน หรือแม้แต่ตะขาบ แมงป่อง งู แมงมุม หรือสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษทั้งหลาย ใครเห็นก็ต้องรีบตี รีบฆ่า รีบกำจัดมันก่อน เพราะกลัวอันตราย


   ซึ่งสัตว์เหล่านั้น โดยแท้จริง มันกลัวมนุษย์เสียมากกว่า มันไม่ได้คิดที่จะมุ่งหมายทำร้ายใคร เสียงดังหน่อยมันก็หนีแล้ว ที่มันทำก็เพราะมีภัยถึงตัวเท่านั้น แต่เพราะมันมีเศษกรรมที่ต้องมาเกิดในแบบฟอร์มนี้ มันอาจจะเคยเกิดเป็นมนุษย์มาก่อน เคยสร้างกรรมในการเป็นโจร เป็นผู้ร้าย เป็นผู้ที่ชอบเบียดเบียน ชอบทำร้ายคนอื่นมาก่อน เมื่อใช้กรรมหนักแล้ว เหลือเศษกรรมก็ต้องเกิดมาเป็นสัตว์ที่ใครเห็นแล้ว จะต้องรีบทำร้าย รีบฆ่า รีบที่จะทุบตีมันก่อน เพราะกลัวมันทำอันตรายให้ ทั้งๆที่มันยังไม่ได้จะทำร้ายใครๆเลย แต่เพราะแบบฟอร์มของมัน เป็นแบบฟอร์มที่มีอันตราย ดึงดูดให้ผู้คนมุ่งที่จะรุมทำร้ายนั่นเอง


   น่าแปลก ที่แค่เปลี่ยนมุมมองความคิดเพียงเท่านี้ กลับกลายเป็นว่า ความกลัว ความขยะแขยง ความอยากหลบหนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ จะเริ่มหายไป จึงย้อนคิดไปถึงพระปฏิบัติ ที่ท่านให้ความเมตตาทุกสรรพสัตว์เท่ากัน ไม่ได้แบ่งแยกใดๆ แผ่เมตตาให้สัตว์เหล่านั้น แม้จะถูกมด ถูกแมงป่อง ถูกตะขาบเหล่านั้นกัดบ้าง ต่อยบ้าง ในยามที่เดินธุดงค์ ท่านก็ไม่เคยคิดแค้น คิดทำลาย แต่กลับแผ่เมตตาให้ด้วยความสงสาร ในเศษกรรมของสัตว์เหล่านั้น ให้เขามีโอกาสพบแต่ความสุขเถิด เมื่อมุมมองเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน ความเข้าใจมากขึ้น เมื่อกระทบสิ่งเดิมๆ ความรู้สึกจึงเปลี่ยนไป


   เมื่อมีความเข้าใจ ความทุกข์ที่เคยเกาะกินมานาน ความขยะแขยง ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว มันก็จะเลือนหายไป เห็นแต่เพื่อนร่วมวัฏสงสาร ที่ยังต้องเวียนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ทรมานกันอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้
นี่คือปาฏิหาริย์แห่งธรรม ปาฏิหาริย์แห่งความเข้าใจในกลไกของธรรมชาติ แล้วเปลี่ยนจากทุกข์มากมาย กลายเป็นทุกข์น้อยได้จริง แค่ทำความเข้าใจ เปลี่ยนมุมมองใหม่เท่านั้นเอง ความทุกข์จากความไม่เข้าใจก็หมดไปทันที

เราผู้ได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาแล้ว มีโอกาสมากกว่าสัตว์เหล่านั้น ถ้ายังไม่เห็นว่าภัยในวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด น่ากลัวที่สุด หากไม่เร่งปฏิบัติเพื่อที่จะออกจากวัฏสงสารแล้วละก็ จะเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดายที่สุด

หากยังคงทำมาหากินด้วยความโลภ คดโกง กอบโกย หรืออาจพลาดพลั้งไปโกง ไปทำร้าย ไปเข่นฆ่า ก็อาจเป็นได้ว่า เกิดมาครั้งใหม่ อาจกลายเป็นสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง ที่ทุกคนเกลียดกลัวก็เป็นได้



การวิปัสสนา คือการพิจารณาเพื่อให้เห็นจริงในความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสรรพสิ่ง ว่ามันไม่ได้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แม้แต่น้อย และต้องคอยมีสติกำกับอยู่เนืองๆ ระลึกถึงอยู่เนืองๆ พิจารณาอยู่เนืองๆว่านี่ไม่ใช่เรา นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ที่ปรุงแต่งรวมกันแล้วเกิดอุปาทานหลงยึดว่าเป็นตัวเรา ของเรา เท่านั้น



ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว มันไม่ใช่ตัวใครของใคร มันเป็นเพียงการรวมตัวกันของธาตุตามธรรมชาติ แล้วมีกระบวนการปรุงแต่งจนเกิดมีการรับรู้ได้ ซึ่งการรับรู้ก็ไม่ได้เป็นตัวใครเป็นผู้รับรู้ มีเพียงธาตุทางธรรมชาติที่เป็นตัวรับรู้ขันธ์ห้า แล้วมีอุปาทานล่อหลอกว่า ที่รู้ได้ คิดได้ ทำได้ นี่น่ะ มันเป็นตัวแก ของแก

ด้วยความไม่รู้ จึงหลงยึด หลงคล้อยตามไปกับสิ่งล่อลวงเหล่านั้น จึงยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะอวิชชา คือความไม่รู้จริง ไม่รู้ตามความเป็นจริงของธรรมชาตินั่นเอง จึงเกิดปัญหา เกิดตัวตน เกิดเรา เกิดเขา เกิดโลก เกิดภพ เกิดชาติ เกิดวัฏสงสารขึ้นมา แค่เห็นผิดนิดเดียว เรื่องมันเลยยาว ภพชาติมันเลยเยอะ ความทุกข์มันเลยแยะตามไปด้วย

ดังนั้น มรรคมีองค์ 8 หนทางแห่งการพ้นทุกข์ ข้อแรกที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ก็คือ

สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) คือมีความเห็นให้ถูกตรงกับกฎของธรรมชาติเป็นข้อแรก และสำคัญที่สุด คือต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เข้าใจตามสภาวะของธรรมชาติ ไม่ไปหลงผิดจากกฎของธรรมชาติ ไม่ไปหลงยึดธรรมชาติ ว่าเป็นตัวตน เป็นของตน

ถ้ามีความเห็นตามที่พระพุทธองค์ท่านตรัสแล้ว โอกาสที่จะออกจากวัฏสงสาร หลุดพ้นจากอุปาทานทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะมีผู้หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ห้ามากมาย ที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยพุทธกาลจวบจนปัจจุบันนี้แม้จะลดน้อยลงเรื่อยๆก็ตาม แต่ก็ยังพอมีให้เห็นหากปฏิบัติอย่างถูกตรงจริงๆ

ทุกอย่าง จึงต้องอยู่ในการพิจารณา ไตร่ตรอง และเทียบเคียงกับสิ่งที่ท่านได้รับรู้มา ศึกษามา แล้วพิจารณาด้วยปัญญาของท่านเอง อยู่ที่ว่า

ท่านจะมีความเข้าใจในแก่นแท้ของธรรมชาติได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

.......
มารู้จัก อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในอีกมุมมองหนึ่ง... กันเถอะ


อดีต

   ถ้ากล่าวถึงคำว่า “อดีต” คนมักจะคิดไปถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่วินาทีที่ผ่านมา นาทีที่ผ่านมา จนถึงเมื่อวาน เมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อปีที่แล้ว หรือเมื่อชาติที่แล้ว หรือหลายชาติที่ผ่านๆมา มีจำนวนมากมายที่ย้อนรำลึกไปค้นหาอดีตเหล่านั้น

   นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคำว่าอดีตมันเป็นคำสมมุติ ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน เป็นที่เข้าใจกันภายในกลุ่ม ภายในประเทศที่แปลความหมายได้ว่า สิ่งนั้นได้ผ่านมาแล้ว

   ถ้าจะทุกข์ ก็ทุกข์เพราะหวนอาลัยในอดีต เจ็บปวดแค้นเคืองในสิ่งที่ผ่านมา น้อยใจในสิ่งที่ผิดพลาด หวนหาอาลัยในสิ่งที่เคยประทับใจ คิดแล้วคิดอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีก สุขแล้วสุขอีก สลับกันไป

อนาคต

   อนาคตเป็นคำที่สมมุติขึ้น ใช้แทนสิ่งที่ยังมาไม่ถึง โดยมีความเข้าใจหมายรวมว่าสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ในอีก 1 วินาทีข้างหน้า 1 นาทีข้างหน้า 1 ชั่วโมงข้างหน้า เดือนหน้า ปีหน้า หรือ 10 ปีข้างหน้า แม้แต่ชาติหน้าก็ยังไม่ทราบ มีเพียงแต่การคาดคะเน หรือการคาดหวังตามจินตนาการเท่านั้น

   ถ้าจะทุกข์ก็ทุกข์เพราะคาดคะเนล่วงหน้า ทุกข์เพราะกลัวล่วงหน้า ทุกข์เพราะวิตกกังวลล่วงหน้า เรียกว่าวางแผนคาดคะเนเตรียมการในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วทุกข์ไปก่อนทั้งๆที่ยังไม่เกิดเรื่องเหล่านั้น บางคนทุกข์ล่วงหน้าไปข้ามปีด้วยซ้ำ



ปัจจุบัน

   คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ ในอิริยาบถ 4 นี้ เดินอยู่ นั่งอยู่ ยืนอยู่ นอนอยู่ ไม่ว่าจะคุยโทรศัพท์อยู่ กินข้าวอยู่ ดูทีวีอยู่ นอนเล่นอยู่ อ่านหนังสืออยู่ หรืออิริยาบถใดๆที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น

   หากมีสติเห็นปัจจุบันขณะรู้ว่า กำลังทำอะไรในปัจจุบันนี้ มีสติเห็นทุกๆอิริยาบถที่เกิดขึ้น ก็จะเห็นว่า ถ้าอยู่กับปัจจุบันจริงๆ ความทุกข์ปัจจุบันก็คือ สิ่งที่กำลังกระทบต่อเนื่องกับปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่ เมื่อยหลังเพราะนั่งนาน ปวดคอเพราะก้มอ่านหนังสือ ร้อนเพราะพัดลมเสีย หนาวเพราะแอร์เย็น หิวน้ำเพราะเหนื่อยเดินมาไกล มันทุกข์แค่นั้นในปัจจุบัน




มันทุกข์กับสิ่งที่มากระทบในขณะนั้น มีเท่านั้น ถ้ารู้ ถ้าเห็น ถ้าเข้าใจ ก็จะจัดการกับมันได้ในปัจจุบันขณะ นี่คือทุกข์ในปัจจุบัน คือทุกข์ในขณะที่ขันธ์ห้ากำลังกระทบสิ่งนั้นๆอยู่ แล้วเกิดภาวะนั้นๆในขันธ์ห้า
แต่คนส่วนใหญ่ ไม่เคยมองเห็นปัจจุบัน ทุกข์ปัจจุบันที่กำลังกระทบมีแค่นั้น แต่กลับไปทุกข์กังวลเรื่องเมื่อวาน ห่วงใยคนที่ยังไม่กลับมา ทุกข์ไปข้างหน้า ทุกข์ไปข้างหลัง ในขณะที่ยังนั่งอยู่ในปัจจุบัน มันจึงดูเหมือนว่า นั่งเฉยๆก็ทุกข์ได้ เพราะความคิดมันฟุ้งไปทั้งเรื่องที่ผ่านมา และข้างหน้าที่ยังมองไม่เห็น และที่สำคัญ มันหยุดคิดไม่ได้ และมันหยุดทุกข์ไม่ได้นี่สิ เป็นเรื่องสำคัญ



   เพราะพัลวันอยู่กับคำว่า อดีต อนาคต นั่นเอง
   อดีต อนาคต ปัจจุบัน มันมีหนึ่งเดียวเท่านั้น มันแยกกันไม่ได้
   ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต จริงๆแล้วแม้ปัจจุบันก็ยังไม่มีเลย


   (แต่ขั้นตอนนี้คงต้องให้มีปัจจุบันไว้ก่อน เพื่อจับหลักให้อยู่กับปัจจุบันให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปทำความเข้าใจ เพื่อออกจากปัจจุบันในขันธ์ห้าทีหลังก็แล้วกัน)

   หากสามารถเข้าใจกลไกของขันธ์ห้าได้ในระดับหนึ่ง แล้วก็จะเข้าใจว่า ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับขันธ์ห้า มันอยู่ในขันธ์ห้า มันปรุงแต่งสุขทุกข์ อารมณ์หลากหลาย ในขันธ์ห้าของแต่ละคน แล้วไปหลงยึดว่าสิ่งที่ปรุงแต่งในขันธ์ห้านั้นมันเป็นเรา เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้

   เราจึงสุขจึงทุกข์อยู่ไม่วางวาย ดังนั้นที่กล่าวว่า อดีตมันไม่มีจริง ก็เพราะว่า

   ขณะที่นั่งคิดถึงเรื่องเมื่อวาน แต่การปรุงแต่งความคิดมันอยู่ในปัจจุบันนี้ ขณะนี้ ขณะที่คิดตอนนี้ เช่น น้อยใจ เสียใจในเรื่องที่ผ่านมา ครุ่นคิดว่าทำไมเขาถึงต้องต่อว่าเราด้วย เราไม่ได้ทำอะไรผิดสักหน่อย แล้วก็มีความทุกข์ความเสียอกเสียใจ ความน้อยอกน้อยใจ หดหู่ เศร้าหมองนอนไม่หลับ คิดแต่เรื่องเมื่อวานนี้ หารู้ไม่ว่า อดีตมันไม่มีหรอก มันผ่านไปแล้ว หายไปแล้ว ดับไปแล้ว

   แต่ขณะที่คิดเรื่องเมื่อวาน มันคิดเดี๋ยวนี้ คิดตอนนี้ คิดในปัจจุบันนี้ ในวินาทีนี้

   แม้ว่าข้อความที่คิดมันจะเป็นข้อความที่เหมือนเมื่อวาน ความน้อยอกน้อยใจ ความรู้สึกเหมือนเมื่อวานก็ตาม แต่ว่ามันปรุงใหม่วันนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ได้เอาของเก่าเมื่อวานนี้เอากลับมาปรุงใหม่ เอากลับมาย้อนใหม่เลย มันย้อนไม่ได้ มันคิดแล้ว มันรู้สึกแล้ว มันผ่านเลยไป มันดับไป หลังคิดเสร็จมันดับไปแล้ว มันไหลผ่านไปแล้ว จะจับเอากลับมาย้อนคิดทบทวนใหม่ไม่ได้ มีแต่คิดใหม่ในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้ แต่เป็นประโยคเดิม เรื่องเดิมเท่านั้น



เหมือนเราจุดไฟ พอจุดแล้ว ลมพัดไฟดับไปแล้ว มันหายไปแล้ว ก็ต้องจุดใหม่ ลมพัดดับอีก ก็ต้องจุดใหม่อีก จุดสัก 10 ครั้ง ก็คือจุดไฟ 10 ครั้ง ไม่สามารถเอาไฟเก่าที่ดับไปแล้วมาจุดใหม่ได้ ต้องทำการกระทบกันใหม่

   และไฟที่ดับไปแล้ว มันก็ไม่ได้หายไปไหน แต่มันกลับไปอยู่ในธรรมชาติ รอเหตุปัจจัยมากระทบใหม่อีกครั้ง จึงเกิดขึ้นมาใหม่ คือจุดใหม่ จึงเกิดไฟครั้งใหม่นั่นเอง คนที่เดินมาเห็นไฟทีหลัง ก็เห็นไฟติดอยู่แล้ว โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีการจุดไฟกี่ครั้ง

   ดังนั้น ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำอะไร ทุกครั้งมันเป็นการปรุงใหม่ทั้งสิ้น มันไม่มีของเก่าเลย เพราะทุกขณะ มันเป็นปัจจุบัน ในทุกขณะนั่นเอง

   ก้าวเท้าไปข้างหน้า 1 ก้าว ชักท้าวกลับไปที่เดิมแล้วก้าวมาอีก 1 ก้าว ทับที่เดิมแล้วชักเท้ากลับ แล้วก้าวออกมา 1 ก้าว เหยียบลงไปที่เดิม ทำสักสิบครั้ง หรือร้อยครั้ง ทุกครั้งที่ก้าว ก็คือยื่นเท้าออกไปใหม่ทุกครั้ง แม้จะมองเหมือนว่ามันเป็นรอยเท้าเดียวเท่านั้น มันเหมือนไม่ได้ไปไหน มันย่ำอยู่ที่เดิม เหมือนเดิม แต่เปล่าเลย ทุกครั้งที่เหยียบไป มันผ่านไปแล้ว เหยียบครั้งใหม่ก็คือต้องก้าวใหม่ แต่ซ้ำที่เดิม เมื่อก้าวใหม่ก็ซ้ำที่เดิม จึงดูไม่ออกว่าเป็นการก้าวถึงร้อยครั้งเชียวหรือ ก็เห็นมีแค่รอยเท้าอันเดียว

   ถ้าเป็นรูปขันธ์ จะพอมองเห็นได้ชัดเจน ว่าก้าวใหม่ทุกครั้งแต่เหยียบที่เดิม แต่เป็นการก้าวออกไปแต่ละครั้ง แต่ถ้าเป็นความคิด ความรู้สึก จะมองเห็นยาก จะคิดกังวลทุกข์ใจนับร้อยครั้ง นับพันครั้ง อารมณ์หดหู่ เศร้าหมองนับร้อย นับพันครั้งก็มองไม่เห็น มีแต่ทุรนทุรายในทุกๆขณะที่มันผ่านมา ผ่านไป

   เมื่อไม่มีสติเห็นความคิด ไม่เห็นอารมณ์ความรู้สึก ไม่เห็นกลไกการปรุงแต่งของขันธ์ห้า ที่มันไหลไปตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง แล้วเราก็จะหลงว่า ทำไมเรากังวลเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คิดแล้วคิดเล่า ทุกข์แล้วทุกข์เล่าอยู่ตลอดเวลา

   หารู้ไม่ว่านั่นแหละคุณปรุงแต่งเอง ปรุงใหม่ในทุกๆครั้ง ทุกวินาที ทุกขณะจิต แต่อาจจะปรุงใหม่ในเนื้อหาข้อความเดิมๆ



   นี่คือเรื่องที่เรามองไม่เห็น คิดไม่ถึง ว่าสาเหตุที่เราทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องเก่าๆ เรื่องเดิมๆ แล้วไปโทษว่าทำไมเราไม่ลืมมันเสียที คิดทีไร ทุกข์ทุกนาที ไปโทษว่า ยึดติดในอดีต มันหลอกหลอน มันคอยทิ่มแทงให้เราทุกข์ ให้เราโศกเศร้าเสียใจตลอดมา หารู้ไม่ว่า ทุกข์นั่นน่ะ ไม่ใช่อดีต มันทุกข์ในปัจจุบัน ทุกข์ตอนนี้ และเดี๋ยวนี้

   แม้ข้อความที่นำมาทุกข์ จะถูกส่งมาจากสัญญาที่เคยจำไว้นานมาแล้ว แต่การส่งขึ้นมา ก็ส่งขึ้นมาเดี๋ยวนี้ จำได้เดี๋ยวนี้ ปรุงแต่งเดี๋ยวนี้ แล้วทุกข์เดี๋ยวนี้



   นั่งสบายๆอยู่ดีๆ หันไปเห็นรถเก๋งสีแดงผ่านหน้าบ้าน ตารับภาพ (ปัจจุบัน) สัญญาจำได้ส่งมา (ปัจจุบัน) เราเคยมีรถสีนี้ ยี่ห้อนี้ ปรุงแต่ง (ปัจจุบัน) โดนขโมยไปเมื่อเดือนที่แล้ว อารมณ์ (ปัจจุบัน) หดหู่ ซึมเซา เศร้าหมอง ไปทันทีด้วยความเสียดาย แล้วเริ่มคร่ำครวญ รำพึงรำพัน เสียอกเสียใจใหม่อีกครั้งในปัจจุบัน




แฟนทิ้งไปหลายปีแล้ว คิดทีไร ทุกข์ทุกที


   นั่นคือ ปรุงใหม่ทุกวัน ทุกข์ทุกวัน แล้วไปโทษว่ามันลืมอดีตไมได้ ลบอดีตไม่ได้ หารู้ไม่ว่า ท่านทำปัจจุบันให้มันเป็นทุกข์เอง ด้วยความไม่รู้ ไม่เห็นความสำคัญของปัจจุบันขณะ ที่ควรแต่จะอยู่กับสิ่งที่กระทบ ณ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้เท่านั้น แค่ปัจจุบัน ก็มากมายเกินพอแล้ว เพราะจะมีสิ่งมากระทบ มาให้เรียน มาให้วางอย่างมากมายแล้ว

   อย่าไปเยื่อใย อย่าไปรื้อฟื้น อย่าไปเอื้ออาทรข้อความเดิมๆ ความรู้สึกเดิมๆ ความจำเดิมๆมาเป็นเชื้อ เพื่อให้มันปรุงวันนี้ในข้อความเดิมๆ ที่เคยผ่านมมาใหม่เมื่อหลายปี หลายเดือน หลายวัน หลายชั่วโมง เหล่านั้นเลย เพราะมันปรุงเดี๋ยวนี้ จึงทุกข์เดี๋ยวนี้ ทุกข์ขณะนี้ ทุกข์วันนี้

นี่คือทุกข์ปัจจุบัน ที่หลายท่านไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ยังยึดเกาะอยู่ ยังห่วงหาอาทรกันอยู่ โดยแทบไม่รู้ว่ากำลังทิ่มแทงตัวเองในทุกเวลา ทุกนาที ทุกขณะจิตนั่นเอง และเป็นทุกข์ฟรีเสียด้วยสิ

   ความจริงสิ่งทั้งหลายที่มันปรุงแต่งขณะใด มันจบไปในขณะนั้น จบไปตั้งนานแล้ว มันผ่านไปตั้งนานแล้ว มันดับไปตั้งนานแล้ว แต่เพราะกลไกของขันธ์ห้ามันนำมาปรุงแต่งใหม่เอง เมื่อกระทบสิ่งนั้นสัญญามันก็ปรุงใหม่ โดยใช้รากเดิม สังขารความคิดก็ปรุงใหม่ แต่ในข้อความเดิม อารมณ์มันก็ต้องปรุงใหม่ แต่ให้อารมณ์แบบเดิม แล้วเราก็ไปอุปาทานว่ามันเป็นของเดิม เป็นของที่เคยเกิดขึ้นแล้วมีผลกับเราเหมือนเดิม ถ้าทุกข์ก็เหมือนทุกข์เช่นเดิม ถ้าสุขก็เหมือนสุขอย่างเดิมนั่นเอง แต่ความเป็นจริงมันปรุงใหม่ทั้งหมด ในวินาทีนี้ ในปัจจุบันขณะนี้ ทั้งในความคิดความรู้สึก ความจำ

(ความจำมันก็ส่งขึ้นมาในปัจจุบัน ไม่ใช่ส่งมาตั้งนานแล้วเพิ่งนึกได้ ทุกอย่างทำพร้อมกันในปัจจุบันขณะ)



   มันคือปัจจุบันทั้งหมดไม่ว่าจะคิดเรื่องในอดีต เนื้อเรื่อง ข้อความ เป็นข้อความที่เคยเจอมาแล้ว แต่ตอนปรุงแต่ง ตอนคิด กลับคิดในปัจจุบันนี้ ในตอนนี้ ในเดี๋ยวนี้ แล้วพอผ่านไปมันก็หายไป ปรุงใหม่อีกต่อเนื่องกันไปอย่างนี้
แต่เพราะมันต่อเนื่องกันเป็นสายยาว เป็นกระแสที่ไหลไปอย่างต่อเนื่อง มันจึงดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน มันเหมือนทุกข์ต่อเนื่อง มันเหมือนสุขต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่เลย วินาทีนี้มีความสุข อีกวินาทีก็สุข อีกวินาทีสุขน้อยลง อีกวินาทีสุขน้อยลงอีก มันลดลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันจะสุขเหมือนครั้งแรกไม่ได้ มันไม่สุขเท่าเดิมแล้ว เพราะการปรุงใหม่มันสุขน้อยลงนั่นเอง

   ดังนั้น ที่กล่าวว่าอนิจจัง คือความไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป หมุนเวียนไปตลอดเวลา มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเกิดดับตลอดเวลา ทุกขณะจิต กระแสมันจะไหลไปตลอดเวลา ไม่เคยย้อนเอาของเก่ามาใช้ใหม่ได้เลย ไม่เคยเอาของเก่ามาคิดใหม่ได้เลย ยกเว้นปรุงใหม่ในปัจจุบัน แต่ข้อความเหมือนกัน ประโยคเดียวกันกับเมื่อวานนั่นเอง

   
ดังนั้น คิดถึงอดีต ก็คิดอยู่ในหัวของเราในปัจจุบันนี้ แต่เป็นข้อความหรือประโยคที่เคยผ่านมาแล้วตามสัญญาที่บันทึกไว้ คิดถึงอนาคตก็คิดในปัจจุบันนี้เช่นกัน แต่ข้อความหรือสิ่งที่ปรุงแต่งนั้น อาจเป็นประโยคที่มากจากจินตนาการ การคาดคะเนเป็นส่วนใหญ่ เพราะยังไม่มีการบันทึกไว้ของสัญญานั่นเอง
ทีนี้เราเลยมาดักรอตรงปัจจุบันนั่นแหละดีที่สุด ถูกสุด และตรงสุดแล้ว อ๋อ.. ตอนนี้ ปัจจุบันนี้ มันกำลังคิดถึงข้อความของอดีต อ๋อ.. ตอนนี้ ปัจจุบันนี้ มันคาดคะเนในอนาคต มันปรุงแต่งกันใหญ่ในสไตล์จินตนาการแล้วมันก็สุขในปัจจุบันตามจินตนาการนั้น

   ถ้ามีสติรู้เท่าทันขันธ์ห้า ก็จะเห็นว่าแต่ละวันมันคิดไปข้างหน้า ย้อนมาข้างหลัง คิดเรื่องเมื่อวาน คิดไปต่างๆนานา ดูเหมือนว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเลย

   
แต่นั่นแหละ คุณกำลังอยู่กับปัจจุบัน ที่มันกำลังฟุ้งซ่านไปในเรื่องที่ผ่านมา ในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ในเรื่องหลากหลายที่ประดังเข้ามาในความคิด ความรู้สึกที่กำลังปรุง ณ ปัจจุบันนี้

   ดังนั้น การวิปัสสนา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปฏิบัติให้รู้แจ้ง ให้เห็นจริง ในปัจจุบัน ประกอบกับต้องมีสติอย่างยิ่ง มีสติรู้เท่าทันการปรุงแต่งของขันธ์ห้าตลอดเวลา เพื่อที่จะรู้เท่าทันว่า มันกำลังทำอะไรในปัจจุบันขณะ หากมีสติรู้เท่าทันขันธ์ห้าว่ากำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร กำลังมีอารมณ์อย่างไรในปัจจุบันขณะ จะได้ตัดตอนการปรุงแต่ง ที่จะนำพาไปหาข้อความอดีต จินตนาการอนาคต แล้วหลอกให้เรามาทุกข์ในปัจจุบัน

   
หากคิดถึงอดีต คิดถึงอนาคตในขณะปัจจุบัน แล้วมีสติรู้เท่าทัน ก็จะไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ ก็สามารถทำได้ แต่ให้รู้เท่าทันว่า ขันธ์ห้ามันกำลังคิดเรื่องเตรียมงานของพรุ่งนี้ คิดถึงการนัดหมายในวันพรุ่งนี้ คิดถึงเพื่อนเก่าที่มาหาเมื่อวาน แต่มันคิดในปัจจุบันนี้

   มันก็จะไม่ไปยึด ไปคาดหวัง ไปเสียดาย ในเรื่องทั้งหลายที่ผ่านมา หรือยังไม่มาถึง มันจะคิดในปัจจุบัน แล้ววางในปัจจุบัน รอเมื่อถึงปัจจุบันที่จะมาถึงตอนไหน ก็ค่อยจัดการตามความเหมาะสมในปัจจุบันขณะในตอนนั้น

   มันจึงไม่มี อดีต ปัจจุบัน อนาคต

   มีแต่ ปัจจุบัน ปัจจุบัน ปัจจุบัน

   ถ้าอยู่กับปัจจุบัน รู้เท่าทันขันธ์ห้าในปัจจุบัน ก็จะเห็นอดีต เห็นอนาคตในปัจจุบันนี้แน่นอน ก็พอจะเปิดมุมมอง ให้เห็นความเป็นปัจจุบันกันได้มากขึ้น

   เพราะปัจจุบันสำคัญที่สุด อดีต อนาคต ไม่มีสำคัญ เพราะมันไม่ได้มีจริง

   ถ้าเห็นได้ ปล่อยวางได้ ก็ดับทุกข์ได้ในปัจจุบัน

   ขอให้ทุกท่าน มีสติ รู้เท่าทันปัจจุบันขณะ ของขันธ์ห้าของท่าน ในทุกๆขันธ์ด้วยเทอญ
 
ความลับของตัวตน




เมื่อไปคิดถึงอดีต และอนาคต จะไม่มีวันรู้สึกต่อปัจจุบัน
เมื่อรู้สึกต่อปัจจุบัน จะไม่มีความรู้สึกเป็น “ตัวตน”
จากหนังสือธรรมะ ฝนประปราย


“คือไม่มีตัวตน ตั้งแต่ผู้คิด ผู้ทำ และผู้รับผล (บุญ) ที่ทำ จึงเป็นการกระทำที่ว่างจากผู้กระทำนั่นเอง จึงไม่ต้องไปเวียนเกิด เพื่อไปรับบุญที่ทำในครั้งนี้อีก”


   โดยธรรมชาติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมไม่ได้เป็นตัวใครของใคร เป็นธรรมชาติล้วนๆที่มาประชุมรวมกัน แล้วเกิดการอุปาทานในขันธ์ห้าว่าเป็นตัวเราของเรา

   ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อการละวางอัตตาตัวตน ย่อมต้องทำความเข้าใจในข้อความนี้ให้ถูกต้อง ให้เห็นจริง และเพียรเพื่อที่จะปฏิบัติให้เห็นกลไกการปรุงแต่งของขันธ์ห้า ที่มันปรุงแต่งเองตามเหตุปัจจัยที่มากระทบ แล้วไม่ให้อุปาทานไปเกาะ รับว่าเป็นตัวเราของเรา

   ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย พึงระลึกอยู่เสมอว่า ร่างกายนี้ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์เหล่านี้ ที่เกิดขึ้นภายในขันธ์ห้านี้ เป็นการปรุงแต่งของธรรมชาติ ไม่ได้มีตัวใครของใคร จึงไม่สามารถบังคับบัญชาให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ตามต้องการ





แม้ภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านยังต้องออกธุดงค์ ปลีกวิเวก เพื่อที่จะไปพิจารณาขันธ์ห้าตามความเป็นจริง ให้เห็นการปรุงแต่ง ให้เห็นการเกิดดับของขันธ์ห้า ให้เห็นจริงว่าขันธ์ห้าทั้งหลายไม่ได้เป็นตัวตน ไม่ได้เป็นตัวใคร ความคิดทั้งหลายก็สักแต่ว่าคิด อารมณ์ทั้งหลายก็สักแต่ว่าอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ก็เพียรเพื่อเห็นการเกิดดับ เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสรรพสิ่งที่รวมกันขึ้นมา จนเห็นเหมือนว่ามีตัวคน ตัวสัตว์ ตัวเรา ตัวเขา นั่นเอง

   นี่คือการปฏิบัติที่เป็นแก่น ของพระธรรมคำสั่งสอน

   ดังนั้น เราก็ต้องเพียรเพื่อที่จะพิจารณาเนืองๆว่า ความคิดนี้ สักแต่ว่าคิด จะคิดอะไร จะฟุ้งซ่านมากน้อยแค่ไหน ก็อย่าตามความคิดไป ให้มีสติเห็นความคิดเหล่านั้น ว่ามันไม่ได้เป็นตัวตนของตน สักแต่ว่าคิดไปตามเหตุปัจจัยที่มากระทบ อย่าไปให้ความสำคัญมากนัก เพราะไม่อย่างนั้น จะพาแต่คิดไปหาเหตุแห่งทุกข์อยู่เรื่อย

   การเห็นนี้สักแต่ว่าเห็น เพราะอายตนะมันทำหน้าที่รับภาพ รับเสียง รับสิ่งต่างๆเข้ามาเพื่อให้ขันธ์ห้า ขันธ์อื่นๆรับช่วงต่อ ทำหน้าที่ปรุงแต่งต่อไป ทางธรรมะจึงบอกว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น

อย่าได้นำมันมาปรุงแต่ง เพราะมันไม่ได้มีความสำคัญพอที่จะทำให้เราต้องไปสุขทุกข์กับมัน

   ความจำนี้สักแต่ว่าจำได้ ก็มันเคยบันทึกไว้ มันก็ส่งออกมาแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ใช่ว่าเราจำเก่ง เราจำแม่น เราดีกว่าเขา เพราะจำได้ดีกว่าเขา พออายุมาก ก็ลืมเลือนพอกัน เพราะมันไม่ใช่ของใคร มันก็เสื่อมถอยไปตามกลไกธรรมชาติ

   หรือแม้ว่าร่างกาย การเปลี่ยนแปลงก็แปรปรวนไปเรื่อย เซลล์เปลี่ยนแปลง แปรปรวน ถ้าจะไปยึดเกาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ได้ตลอดเวลา


ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง การไหลไปของกระแสธรรมชาติ มันไหลไปตลอดเวลา ไม่ได้เป็นของใครแม้แต่น้อยนิด เพียงแต่ถ้าใครอุปาทานว่าสิ่งนี้ ความคิดนี้ ความจำนี้ อารมณ์นี้เป็นของเรา เขาก็ต้องรับสิ่งที่ขันธ์ห้ามันปรุงหลากหลายอารมณ์เหล่านั้น ว่าเป็นของเขาไปด้วย เท่ากับไปปั้นอุปาทาน ไปปั้นสิ่งที่เป็นความว่างให้มีตัวตนขึ้นมา

   แล้วมันก็เป็นกลไกธรรมชาติ เมื่อมีตัวตน มีตัวเราผู้กระทำ ก็ย่อมมีการบันทึกผลของกรรมนั้นๆไว้ให้ตัวตนของผู้กระทำ จึงต้องมีการรับผลของการกระทำนั้นๆที่บันทึกไว้ เพื่อชดใช้ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว

   จึงยังต้องเวียนเกิดเวียนตาย ใช้บุญใช้กรรมกันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นั่นคือ เมื่อมีตัวตนผู้กระทำ จึงมีตัวตนของผู้รับกรรม

ก็มีการบันทึกวิบากต่างๆเก็บไว้ให้ตัวตนของผู้กระทำนั่นเอง

ต้องชดใช้กันไปไม่มีที่สิ้นสุด ต้องเวียนเกิดเวียนตายเพื่อมาชดใช้วิบากเหล่านั้น




ต้องมาเกิดเป็นเศรษฐี เป็นผู้ใจบุญ เพราะสร้างวิบากดีไว้เยอะ แม้จะไม่อยากเกิด อยากไปนิพพาน แต่มีตัวผู้ทำบุญก็ต้องมารับบุญ ไปนิพพานยังไม่ได้ เพราะยังมีตัวตนผู้ทำบุญอยู่
  
กฎแห่งกรรม ก็ต้องเก็บบุญไว้ให้ตัวผู้ทำกรรมดีนั้น มารับไป


ต้องเกิดมาเป็นยาจก มาเป็นผู้ร้าย เพราะสร้างวิบากไม่ดีไว้เยอะ ต้องมาชดใช้เวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะยังมีตัวตนผู้รับวิบากไม่ดีอยู่
  
ถ้ายังไม่เห็นว่า ทุกอย่างล้วนเป็นของธรรมชาติ ไม่ได้มีตัวตน ไม่ได้มีตัวใคร ของใคร ที่ควรจะต้องไปเกาะ ไปยึด ไปบังคับบัญชา แล้วถอยออกมาดูการปรุงแต่งของแต่ละขันธ์ด้วยความเข้าใจ

จะทำสิ่งใดก็มีสติรู้เห็นการกระทำนั้นๆว่าเป็นการสมควรเพียงใด เหมาะสมเพียงใด แล้วทำไปตามเหตุปัจจัยที่ควรกระทำ แล้วไม่ไปยึดเอาธรรมชาติขณะที่กระทำนั้น ว่าเป็นเราผู้กระทำ เราผู้ช่วยเหลือ เราผู้ให้ เราผู้ไม่ให้ เราผู้ทำอย่างนี้ อย่างนั้น

  
ไม่รับทั้งบุญ และบาป ไม่มีทั้งเขาและเรา ไม่ได้มีใครให้ใคร มีแต่การช่วยเหลือกันไปของธรรมชาติกับธรรมชาติเท่านั้น มันจึงไม่ได้มีใครทุกข์ มีใครสุข เพราะอยู่เหนือขันธ์ห้า อยู่เหนืออารมณ์ปรุงแต่งสุขทุกข์ทั้งหลาย

   มองเห็นว่ามันเป็นสักแต่ว่าสุข ทุกข์ในอารมณ์ ในความรู้สึกเท่านั้น
   ถ้ายังเกาะเกี่ยว มีตัวผู้ทำ ผู้ให้ ผู้รับ ผู้ทำดี ผู้ทำชั่วอยู่ล่ะก็
   ยังต้องเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ออกไม่ได้แน่นอน

 




เหมือนเช่นพระอรหันต์ พระองคุลิมาล ถ้าท่านยังไม่บรรลุธรรม ที่ได้รับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วนั้น ท่านต้องชดใช้กรรมอีกเท่าไร กว่าที่ท่านจะใช้ได้หมดในการฆ่าคนจำนวนมหาศาลเหล่านั้น
  
แต่เพราะท่านได้มารู้ความจริงที่เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปรู้ได้ยาก ท่านเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้เป็นตัวตน ไม่ได้เป็นตัวใครของใคร เป็นเพียงธรรมชาติ แต่ด้วยความไม่รู้จึงทำสิ่งที่ผิดจากหลักธรรมชาติ ไปยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน จึงต้องมีตัวเรา ทำร้ายตัวเรา จึงต้องรับกรรม วิบากกรรมมาเป็นของเรา
  

แต่เมื่อรู้เห็น รู้ความจริง ท่านจึงออกจากตัวตน ออกจากอุปาทานขันธ์ห้า ท่านจึงอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือกรรม วิบากกรรม คือบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเกิดมาเพื่อใช้กรรมอีก

  
แต่ขันธ์ห้า ที่เคยยึด เคยคิดว่าเป็นตัวตน มันก็ยังต้องรับกรรมของมัน กรรมของขันธ์ห้า ถูกขว้างปาทุบตี ถูกทำร้ายด้วยความอาฆาตจากชาวบ้าน พระองคุลิมาลท่านก็ไม่ทุกข์ ก็ขันธ์ห้าชดใช้ไป ก็ทุบตีไป ขันธ์ห้าก็ใช้กรรมไป เมื่อสิ้นขันธ์ห้า ก็แยกย้ายจากกันไป ไม่ต้องกลับมารวมกันเป็นขันธ์ห้า เพื่อเกิดใหม่อีกนั่นเอง
  
จะเห็นได้ว่า จุดแก่นจริงๆก็คือ ให้เห็นความเป็นจริงของขันธ์ห้า ให้เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ ว่ามันไม่ได้เป็นตัวตน ไม่ได้มีตัวใคร เป็นเพียงอุปาทานขันธ์ห้าเท่านั้น ที่มันยึดเหนี่ยวเอาไว้
  
ดังนั้น การหลุดพ้น จึงหลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ห้า ที่มันปรุงแต่งแล้วหลอกล่อให้ยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ถ้าเห็นตามจริง และมีสติอยู่ในปัจจุบันขณะ ก็จะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นตัวตนของตนจริงๆ
  
แต่ถึงพูด ถึงบอกยังไง มันก็ไม่เห็น เพราะมันเข้าใจไม่ได้ ยังไปไม่ถึง ยังวนอยู่ในขันธ์ห้ากันอยู่ เกาะติดอยู่ในขันธ์ห้า ไม่เคยคิดที่จะแยกออกมาดูมันทำงานกันเองเลยสักครั้ง ไม่เคยที่จะฉุกใจสักนิดว่ามันไม่ได้มีใคร ไม่ได้มีตัวตนของตนใดๆอยู่ในขันธ์ห้าเลย
  
การจะอยู่เหนือขันธ์ห้า มันจึงเป็นเรื่องที่เกินวิสัยจะคิดได้ แล้วจะไปโทษใคร ไปโทษอะไร เพราะเราไม่เข้าใจเอง เราจึงยังสุข ยังทุกข์กันอยู่นั่นเอง
   


ถึงเวลาหรือยัง ที่จะมีความเห็นให้ถูกต้อง ให้เข้าถึงแก่นของธรรมชาติ เข้าถึงแก่นของธรรม เพื่อออกจากสังสารวัฏอันยาวนานกันเสียที...




จบ...

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน ชุดที่ 2 
บรรยายโดย
อาจารย์สุดใจ ชื่นสำนวน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น