วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตนชุดที่ 3

ธรรมะเพื่อการละวางอัตตาตัวตน
ชุดที่ 3
บรรยายโดย
อาจารย์สุดใจ  ชื่นสำนวน


โลกนี้คือละคร
โลกนี้...ก็คือละครโรงใหญ่ ในกลไกของธรรมชาติ มีกรรม วิบากกรรม เป็นผู้คัดเลือก ให้แต่ละท่านมาเล่นตามบทนั้น ๆ อย่างเหมาะสม

ถ้าเลือกได้ ก็คงมีแต่คนอยากเกิดมาในกองเงินกองทอง เกิดมาสวย รวยทรัพย์ เกิดมาสุขสบายกันทั้งนั้น

ไม่มีใครอยากเลือกเกิดมาลำบาก เกิดมายากจน เกิดมาพิกลพิการ

แต่.... เพราะไม่มีใครเลือกเกิดได้....ตามอำเภอใจตนเอง ด้วยวิบากกรรมต่าง ๆ ที่ทำไปด้วยความไม่รู้ เป็นผู้จัดสรรให้มาเล่นบทนั้น ๆ

ถ้ายังออกจากกรรม วิบากกรรมของแต่ละคนไม่ได้ ก็ยังคงต้องมาเล่นบทบาทต่าง ๆ มากมาย ทั้งบทพ่อ แม่ ลูก ผู้ชาย ผู้หญิง พี่ ป้า น้า อา คนรวย คนจน เจ้านาย ลูกน้อง สวมหัวโขนด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ และเล่นกันต่อไป หลายภพ หลายชาติ จนนับไม่ถ้วน
ด้วยการวนเวียนมาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตาย ในโรงละครนี้

แม้วันนี้ จะเลือกเกิดไม่ได้
แต่เลือกที่จะ...."ไม่เกิด"...ได้ ..... ถ้าเข้าถึงกลไกของธรรมชาติ
คือ เลือกได้.... ที่จะไม่เกิดอีก เลือกที่จะไม่มาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีก

พระพุทธองค์ ท่านพบหนทางของการ หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านเข้าถึงกลไกของธรรมชาติเหล่านั้น ค้นพบทางที่ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว จึงชี้ทาง บอกทางให้กับผู้ที่มืดบอดด้วยอวิชชา ได้รับรู้ และดำเนินตามท่านเพื่อหลุดพ้นจากสังสารวัฏอันยาวนาน
พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ดำเนินตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ชี้ทาง และหลุดพ้นจากอวิชชา พ้นจากอุปาทานทั้งหลาย ไม่ต้องมาเวียนเกิดเวียนตายเช่นกัน

แม้ผู้ที่เป็นสาวกของพระพุทธองค์ ดำเนินตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มีการไตร่ตรองในธรรมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือบุคคลใด ๆ ก็ตาม ก็สามารถเข้าถึงกฏสัจธรรมนี้ได้ หากมีปัญญาเห็นธรรม หรือเห็นจริงในธรรมชาติเหล่านั้น
และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้เช่นกัน

ดังนั้น จึงต้องพุ่งเป้าไปที่ขันธ์ห้าของตนเองเป็นหลัก เพื่อเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญในการดับทุกข์ในขันธ์ห้า หมั่นพิจารณาให้เห็นความเป็นเช่นนั้นเองของทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา

มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เพราะมันทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ มันต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมันก็ไม่ได้เป็นตัวใครของใครทั้งสิ้น มันจึงบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยนั่นเอง

หากเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ในขันธ์ห้า และออกจากอุปาทานทุกข์เหล่านั้นได้

ถือว่าท่านเชี่ยวชาญทุกสาขา

ทางโลก
ผู้ที่เก่งทางเคมี ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญทางเคมี
ถ้าท่านเก่งทางคอมพิวเตอร์ ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์
ถ้าท่านเก่งทางการแพทย์ ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์
ถ้าท่านเก่งทางวิศวกรรมสาขาใด ๆ ท่านก็คือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ

แต่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ก็ยังคงทุกข์อยู่ ยังคงดิ้นรนเพื่อให้ออกจากทุกข์อยู่ นั่นแสดงว่า ท่านเชี่ยวชาญสาขาไหนไม่สำคัญ แต่ท่านก็ยังคงทุกข์อยู่ ยังคงหาทางดับทุกข์อยู่

แต่ถ้าท่านเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ ในการละจากอุปาทานขันธ์ห้า ต้นตอของความทุกข์ และท่านสามารถดับทุกข์ได้ในขันธ์ห้าของท่านเอง

นั่นหมายถึงว่า ท่านเชี่ยวชาญทุกสาขา
เพราะผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้งหลาย สุดท้ายก็ต้องมาออกตรงทางเดียวกัน

ก็คือหาทางดับทุกข์ เพื่อออกจากทุกข์ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น อริยสัจ 4 ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ จึงมุ่งหมายในเรื่องของ ทุกข์ กับการดับทุกข์ เท่านั้น
1.ทุกข์
2.สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
3.นิโรธคือความดับทุกข์
4.มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
พระพุทธองค์ตรัสแต่เรื่องของทุกข์ กับการดับทุกข์
ไม่ได้ตรัสเรื่องความสุขเลย
ดังนั้นความสุขจริง ๆ จึงไม่มี
มีแต่ทุกข์มาก กับทุกข์น้อย เท่านั้น


ทุกข์น้อย มองเห็นได้ยาก จนมองไม่เห็นว่านี่คือความทุกข์ ต้องใช้ระยะเวลานานหน่อยจึงเห็น เลยไปคิดว่า...เป็นความสุข

เหมือนไปเที่ยว ไปร้องเพลงคาราโอเกะ เหมือนไปพักผ่อน ไปสนุกสนาน ไปมีความสุข
แต่พอเหนื่อย เดินเที่ยวเหนื่อย ร้อน อยากกลับบ้าน จากความสุขเมื่อตอนไปเที่ยว กลับเป็นความทุกข์ ด้วยความเบื่อหน่าย อยากกลับแล้วคนอื่นยังไม่กลับ จึงต้องทนรอด้วยความทุกข์นั่นเอง
หรือร้องคาราโอเกะอย่างสนุกสนาน พอร้องไปสัก 3 ชั่วโมง แล้วเริ่มเหนื่อย อยากหยุด อยากพัก เริ่มไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อนมาแล้ว
แต่ถ้าเขาบอกว่า ให้ร้องเพลงอยู่อย่างนั้น ห้ามหยุด ตลอดทั้งคืน ห้ามเลิก
ก็จะเริ่มทุกข์แล้ว เพราะเหนื่อย เพราะง่วง อยากหยุด อยากเลิก แล้วเขาไม่ให้เลิก
การร้องเพลงนั้น จะกลายเป็นร้องเพลงด้วยความทุกข์ทันที

ร้องไปเบื่อไป เมื่อไรจะให้หยุด เมื่อไรจะให้พอ

นั่นคือ มีความทุกข์แฝงอยู่แต่แรกแล้ว แต่มันยังไม่เห็น แต่พอเริ่มนาน ความทุกข์เริ่มปรากฏ เริ่มเห็น เริ่มทนไม่ได้

คราวนี้ ก็ต้องเริ่มหา วิชาดับทุกข์ มาใช้
ทานอาหารอร่อย เหมือนมีความสุข แต่พออิ่มแล้ว เขาบอกต้องทานอีก ต้องให้หมดจาน ต้องให้หมดหม้อ

เริ่มจะมีความทุกข์แล้ว พอแล้ว ไม่ไหวแล้ว ความทุกข์เริ่มปรากฏ

ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าสุข มันไม่มี มีแต่ทุกข์ กับปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์

นี่เป็นเพียงรูปขันธ์ที่เกี่ยวเนื่องส่งไปในขันธ์ห้านะ

แล้วอื่น ๆ อีกมากมายรอบตัว จึงมีแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ที่มองไม่เห็น ด้วยไม่มีปัญญามองเห็นนั่นเอง

พระพุทธองค์ตรัสรู้ แล้วเห็นทุกข์ เห็นโทษภัยในวัฏฏสงสารแล้ว
ท่านจึงตรัสสอน
ว่ามีแต่ทุกข์ กับการดับทุกข์เท่านั้น
และมูลเหตุแห่งทุกข์ ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า อุปาทานว่าเป็นตัวตน ของตน นั่นแหละเป็นเหตุแห่งทุกข์

ดังนั้น หากจะออกจากทุกข์ ก็ต้องเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ ที่เกิดขึ้นในขันธ์ห้าของท่าน

ถ้าท่านเชี่ยวชาญในการดับทุกข์ ถือว่า ท่านเชี่ยวชาญทุกสาขา.
ดังบทความในหนังสือธรรมะ ฝนประปราย ที่กล่าวว่า



เกิดมาทำไม ?


ในโลกนี้มีวิชาความรู้หลายสาขา

ใครรู้แจ่มแจ้งสาขาใด ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น

แต่ผู้ใดรู้แจ่มแจ้งเรื่องความดับทุกข์

ผู้นั้นชื่อว่า เชี่ยวชาญทุกสาขา.


........


ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ MOUNTAIN 

ชีวิตมนุษย์บนดาวเคราะห์โลก
เปรียบเสมือนตัวละครที่โลดแล่น เล่นไปตามบท
มีโลกเป็นโรงละคร

ผู้กำกับ ทำบทไว้แล้ว
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ
ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ฉากละครถูกเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก
เพื่อให้เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง

บทเรียนชีวิตแต่ละบท เป็นเพียงบทละคร
ที่มนุษย์ต้องเล่น ไปตามจริต ตามวิบากกรรม
และผลสุดท้าย ก็ไม่เหลืออะไรเลย แม้แต่ตัวตนที่เคยยึดมั่นถือมั่น

บทละคร ตอนอวสาน ของภาพยนต์เรื่องชีวิตมนุษย์โลก
ทุกชีวิตรู้อยู่แก่ใจ

สะสมกันไปทำไม
ชีวิตดำเนินอยู่เพียงเพื่อประคองชีวิต
แล้วใช้ชีวิต ด้วยความไม่ประมาท
ระลึกรู้อยู่เสมอว่า
ฉากสุดท้ายของชีวิตทุกชีวิต
ต้องล้มตายกลายเป็นปุ๋ย

มันเป็นสัจธรรม ที่แน่นอน ไม่มีวันตาย
ทุกชาติศาสนา ต้องพบเจอเหมือนกันหมด

เมื่อจิตออกจากร่าง(ธาตุสี่ ขันธ์ห้า)
ก็ยังคงต้องไปจับร่าง อื่น
เพื่อยึดเกาะไว้ รอวันหลุดพ้นได้จริงในที่สุด

จิตที่บางเบา โปร่ง โล่ง สบาย
แม้จะเกิดอีก ก็จะได้รับสภาวะจิตเช่นนี้
เพื่อกระทำให้ถึงซึ่งความไม่เกิด
คือไม่มีสภาวะของการยึดมั่นถือมั่นในอุปทานขันธ์ห้า

ตรงกันข้ามกับจิต ที่ยังหนัก เพราะการยึด ไม่ยอมวาง
ย่อมพาให้จมดิ่งลงสู่เบื้องล่าง
ยิ่งไม่มีกุศล นำพา
ทิศทางที่ไปก็คืออบายภูมินั่นเอง

อบายภูมิ น่ากลัวยิ่งนัก
ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นเศษเสี้ยวของความน่ากลัวเท่านั้น

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเหมือนเช่นเคยครับ..



ขออนุโมทนากับอาจารย์เม้าท์อย่างยิ่งค่ะ

กับข้อความเตือนสติข้างต้นที่ได้กล่าวมานี้

บางข้อความ หลายท่านอาจเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนแล้ว

แต่ปฏิบัติอย่างไร ก็ยังเบาบางจางคลายจากการยึดมั่นถือมั่นไม่ได้สักที

เพราะไม่รู้จะเริ่มยังไง เริ่มตรงไหน

นั่นเป็นเพราะว่า เรายังหาปมที่มันล็อคไว้เจอ

เหมือนเชือกเส้นใหญ่ แน่นหนา

เริ่มต้นโดยการนำด้ายเส้นเล็ก ๆ หลาย ๆ เส้นมารวมกัน แล้วหมุนจนเป็นเกลียวอัดแน่นจนเป็นเส้นเชือก ยึดเกาะกันเป็นเกลียว แล้วล็อคปมไว้

ถ้าอยากให้เชือกนั้นคลายออก หลุดออกเป็นเส้นเช่นเดิม ก็ต้องหาปมที่ล็อคให้เจอ

เมื่อหาเจอแล้ว คลายปมออก แล้วหมุนคลายย้อนกลับไปคนละด้านกับที่ขันเกลียวให้แน่น

เส้นด้ายเล็ก ๆ ก็จะค่อย ๆ คลาย หลุดออกจากกัน คืนเป็นเส้น เส้น เส้น ที่ไม่ใช่เชือกอีกต่อไป

เช่นกัน การยึดก็ย่อมต้องหนัก ยิ่งยึดมาก สะสมมาก ความหนักย่อมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอุปาทานมันไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอ มีแต่ต้องสะสมให้มากเข้าไว้ นี่คือกลไกของอุปาทาน

การปล่อย การวาง ก็คือการละอุปาทาน ย่อมเบาบาง จางคลายจากความยึดมั่นถือมั่นไปเรื่อย ๆ เพราะสวนทางกับการยึดมั่นถือมั่น

การปล่อยวาง มิใช่การปล่อยปละละเลย แต่เป็นการวางจากภายใน วางด้วยความเข้าใจ คือมีความเข้าใจในกลไกของธรรมชาติ ของกรรม วิบากกรรมของแต่ละคนที่รายรอบอยู่ ว่าเขาต้องถูกต้องตามกรรม วิบากกรรมของเขาเหล่านั้นเช่นกัน

แม้แต่สิ่งของที่มีอยู่ ใช้อยู่ ก็ยังคงใช้ได้เหมือนเดิม มีอยู่เหมือนเดิม แต่อยู่กันด้วยความเข้าใจ ในสิ่งที่มันเป็นอยู่

บางอันแตก บางอันหัก บางอันหาย ก็ไม่ได้ไปฟูมฟายด้วยความหวงแหนเช่นเคย

อุปาทานขันธ์ห้า มันก็มีปมของมันที่ถูกซ่อนอยู่ เมื่อหาเจอ ก็ย่อมคลายจากความยึดมั่นถือมั่นได้

หากใครหาเจอได้ไว ก็เบาบางจางคลายจากทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว

ก็เพราะรู้เท่าทัน...อุปาทาน...นั่นเอง


........

อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  และไม่ใช่ตัวตน
ขันธ์ห้า มิได้เป็นตัวตน  มิได้เป็นตัวใคร เป็นเพียงการรวมกันของธาตุทางธรรมชาติ  แล้วมีอุปาทานขันธ์ห้าเป็นยางเหนียวยึดเหนี่ยวกันไว้เท่านั้น
พระพุทธองค์ ท่านตรัสรู้แล้ว ท่านเห็นแล้ว ท่านนำมาบอกแล้ว ว่ามันไม่ได้เป็นตัวใครของใคร เป็นธรรมชาติทั้งสิ้น

เพียงแต่ปัญญามนุษย์ จะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

น้อยคนนักที่จะเข้าใจได้จริง จะเห็นได้จริงอย่างที่กล่าวไว้

ถ้าเข้าใจได้จริง เห็นได้จริง ก็จะไม่ไปอุปาทานว่าขันธ์ห้าเป็นตัวเรา สิ่งต่าง ๆ เป็นของ ๆ เรา

ความทุกข์ก็จะไม่เกิด ความโศกเศร้าโศกา ความร่ำไรรำพันก็จะไม่เกิด ความแห้งใจ ความวิปโยคโศกเศร้าทั้งหลาย ก็จะไม่เกิด

เพราะไม่มีตัวตนของผู้ที่จะรับทุกข์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น...นั่นเอง

เมื่อมีตัวเราที่ไหน ทุกข์ที่นั่น

เพราะทุกข์เกาะได้ที่ตัวเรา

พระพุทธองค์สอนแค่ 2 อย่างเท่านั้นในอริยสัจ 4

คือสอนเรื่องทุกข์ กับการดับทุกข์

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ - ขั้นตอนแรกต้องเห็นก่อนว่า กำลังทุกข์อยู่

สมุทัย - เมื่อรู้ว่ากำลังทุกข์อยู่ จึงจะหาสาเหตุแห่งความทุกข์ได้ ว่ากำลังทุกข์เรื่องอะไรอยู่ ที่กำลังร้อนรนอยู่นี่ กำลังเสียใจอยู่นี่ มาจากเรื่องอะไร คือหาเหตุแห่งทุกข์ให้เจอ

นิโรธ - คือความดับทุกข์ ดังนั้นเมื่อหาสาเหตุของความทุกข์เจอแล้ว ก็ไปดูว่า ทางที่จะดับเหตุแห่งทุกข์ได้นั้น มีอะไรบ้าง คราวนี้ต้องพึ่งพระธรรมคำสั่งสอน ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องนำทาง จึงจะมีปัญญาดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ดับทุกข์ทางโลกชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันก็จะกลับมาทุกข์ใหม่ แต่พระธรรมคำสั่งสอนได้ชี้ทางแห่งการดับทุกข์ไว้ให้แล้ว ดับที่ขันธ์ห้า ดับที่อุปาทานว่าเป็นตัวเราของเรานั่นเอง

มรรค - คือการปฏิบัติ เพื่อการพ้นทุกข์ คืออริยมรรค 8 ประการ เพื่อเข้าสู่ทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง คือพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานทั้งปวงนั่นเอง



ดังนั้น ถ้ารู้ว่าจุดทุ่งหมายที่เป็นแก่น ที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ ทรงสั่งสอน ทรงชี้ทางสว่างให้กับเวไนยสัตว์ มีแค่นี้ มีแค่เรื่องของทุกข์ กับการดับทุกข์แค่นี้ มีแค่ให้หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ห้า ละการยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนแค่นี้

มีแค่นี้ ออกแค่นี้ ทำได้เดี๋ยวนี้ ก็หายทุกข์เดี๋ยวนี้
ไม่ต้องใช้สถานที่ไหน มันอยู่ในขันธ์ห้าของแต่ละท่านเท่านั้น

ไม่มีใครช่วยใครได้อย่างแท้จริง นอกจากแค่ชี้แนะ อธิบาย ขยายความเท่านั้น

ที่เหลือนอกนั้น
ท่านต้องทำของแต่ละท่านเอง

แม้แต่พระพุทธองค์ ท่านยังช่วยใครให้บรรลุธรรมไม่ได้เลย
ท่านเป็นเพียงผู้ชี้แนะเท่านั้น

ถ้าใครเข้าใจ ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องตรง ตามแนวทางนั้น ไม่นานก็พ้นทุกข์

อย่างสมัยพุทธกาล เทศนาธรรมแต่ละครั้ง มีผู้บรรลุธรรม มีผู้มีดวงตาเห็นธรรม มากมาย

มีทั้งภิกษุ มีทั้งภิกษุณี มีทั้งอุบาสก มีทั้งอุบาสิกา มีทั้งฆารวาสที่มาฟังธรรมในแต่ละครั้ง

และทุกคน ก็นำขันธ์ห้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อเรียน เพื่อรู้ เพื่อละ เท่านั้น มิได้แบกอุปกรณ์อื่น ๆ มาช่วยเลย

การเรียนรู้ก็ไม่ได้ท่องจำมากมาย ไม่ได้รู้ในพระไตรปิฏกมากมาย หรือบางคนรู้แค่ตัวเองกำลังทุกข์อยู่เท่านั้น ไม่ได้รู้หนังสือ ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟังธรรมะด้วยซ้ำไป

แล้วทำไม พอมารับฟัง พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ทรงชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ทรงชี้แนะทางออกจากทุกข์ คือการละอุปาทานเหล่านั้น

ผู้ ปฏิบัติตามแล้วเกิดเห็นจริง เห็นโทษภัยในวัฏฏสงสาร เห็นว่าเป็นเพราะไปอุปาทานว่าขันธ์ห้าว่าเป็นตัวเรา ความทุกข์นี้จึงเป็นของเราไปด้วย

พบว่าเหตุแห่งทุกข์ เพราะความมีตัวเรานั่นเอง

เมื่อพบเดี๋ยวนั้น ละเดี๋ยวนั้น ก็บรรลุธรรมเดี๋ยวนั้น ณ ที่นั้น

จึงมีผู้บรรลุธรรมมากมาย ในสมัยพุทธกาล


ในสมัยนี้ล่ะ เรียนรู้กันจนมากมาย หนังสือธรรมะเป็นตู้ เป็นตั้ง เต็มลัง เต็มกล่องมากมายไปหมด

อ่านมากมายแค่ไหน ก็จะเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะไม่เห็นจริง จะออกจากทุกข์ไม่ได้จริง

เราจึงยังเห็นคนมีธรรมะมากมาย ดูเหมือนมีความเข้าใจ แล้วทำไมเขายังทุกข์อยู่

นั่นเป็นเพราะ ยังเข้าใจไม่ถึงแก่น ยังตีไม่ตรงจุดนั่นเอง

วันนี้ เราลองมาลองจำกัดพื้นที่ให้แคบลงดีไหม? เราจะใช้แค่ขันธ์ห้าเท่านั้นเพื่อการเรียนรู้ให้แตกฉาน ให้รู้เท่าทันกลไก การหลอกใช้ของอวิชชา

เรา แค่ดูเข้าไปในขันธ์ห้า ..... กางตำรา.... เรียนรู้มันทีละขั้นตอน....ทำความรู้จักกลไก .... เข้าใจ ...แล้วปล่อยวาง...จากอุปาทานในขันธ์ห้าเหล่านั้น

ไม่ยากเกินไป .... แม้จะไม่ง่ายเสียทีเดียว

แต่จะสัมผัสถึงความเบาบางจางคลายจากความทุกข์ได้ ... ในเวลาอันรวดเร็วทีเดียว

ซึ่งมีพยานมากมาย ที่เบาบางจากทุกข์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

วันนี้ เราลองมาเรียน ในห้องเรียนขันธ์ห้า ที่ทุกคนแบกกันมานานแสนนาน..... ดีไหม?
..



......

ประโยชน์ตนคือ ออกจากขันธ์ห้าได้โดยความเข้าใจกลไกของอุปาทาน

ประโยชน์ท่านคือ ขันธ์ห้าก็จะมีการทำงานโดยระบบ โดยแผนที่วางไว้ เพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติ นั่นเอง

ถ้าจะเทียบเคียงกับการเกิดมาตามกรรม วิบากกรรม ตามเหตุปัจจัยที่ส่งมา ก็จะเป็นดังนี้

เหมือนคนธรรมดา ๆ ไม่สนใจธรรมะ ไม่สนใจปฏิบัติ เที่ยวสนุกสนานไปวัน ๆ

แต่เมื่อไรที่เขามีความทุกข์ โศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ เขาก็จะหาทางที่จะออกจากทุกข์นั้น ๆ ซึ่งมีหลายวิธี เที่ยวเตร่ หาเพื่อนฝูง หรือทำสิ่งใด ๆ ในทางโลก เพื่อที่จะหาทางดับทุกข์ในขณะนั้นให้ได้ ซึ่งก็สามารถทำได้ แต่เป็นการชั่วคราว แล้วทุกข์ก็เกิดขึ้นอีก

แต่หาก คนคนนั้น มีปัญญา แล้วเกิด แอ๊ะ...ในทุกข์ที่เกิดขึ้น ว่าทำไมเราจึงต้องทุกข์ ทำไมคนเราจึงต้องพบเจอแต่ความวุ่นวาย ทุรนทุราย แล้วทางไหนจะทำให้เบาบางจางคลายจากทุกข์ได้

นั่นแหละ เมื่อเขามีคำถาม เขาก็จะค้นหาคำตอบ หาคำอธิบาย ทดลองปฏิบัติ และพบหนทางที่จะดับทุกข์ ด้วยความเข้าใจในธรรมะ หรือธรรมชาติ เขาคนนั้น ก็จะสามารถออกจากทุกข์ได้อย่างถาวร

เช่นเดียวกัน เมื่อเราไม่เคยรู้ถึงเหตุปัจจัยเก่าที่เคยสร้างไว้ เมื่อมาปรากฏในชาตินี้ ความทุกข์ ความไม่สมหวัง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ การถูกโกง การถูกเอารัดเอาเปรียบ การเจ็บป่วย ความร้อนรน กระวนกระวาย ความไม่มีลาภ ความเป็นผู้อาภัพในทรัพย์สินปัจจัย
สิ่งเหล่านี้ หากเราไม่เข้าใจกฏแห่งกรรม ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยที่สร้างไว้เอง มาหลายภพหลายชาติ ไม่เข้าใจกลไกของธรรมชาติที่ต้องส่งมาให้ตามเหตุปัจจัยที่ได้สร้างไว้นั้น

ก็จะตีอกชกหัว โทษดินฟ้า โทษเทวดา โทษโชคชะตา โทษโน่นโทษนี่ ขอให้มีผู้ที่จะรับผิดชอบเป็นใช้ได้

เคยคิดบ้างไหม ว่าเหตุปัจจัยที่ส่งให้มาเป็นอย่างนี้นั้น มันมาจากไหน มันมาอย่างไร?


มันมาจากความไม่รู้ จากการยึดมั่นถือมั่น ว่ายังมีฉัน มีแก มีเรา มีเขา มีนั่น มีนี่ นั่นแหละ ที่มันเป็นตัวเก็บ เป็นตัวประมวลผล เป็นตัวส่งให้มายืนอยู่ ณ วันนี้

เพราะยังมีอุปาทาน ว่ามีตัวตน มีของตน มีตัวเรา มีตัวเขา จึงยังต้องวนเวียนอยู่ในอุปาทานเหล่านี้ หาทางออกไม่ได้

ความไม่รู้จริง จึงไปอุปาทานว่าขันธ์ห้านี้ มีตัวเรา เป็นตัวเรา จึงทำเพื่อตัวเรา เก็บไว้ให้ตัวเรา

ธรรมชาติ ก็ต้องรวมดินน้ำลมไฟ ให้เกิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ตัวอุปาทาน มีที่อยู่ ที่อาศัย จึงต้องเกิดใหม่ ซ้ำซากอย่างนี้

แล้วเมื่อไรจะเห็นจริงสักที ว่ามันไม่ได้มีตัวเรา หรือตัวใครทั้งสิ้น

ถ้าเห็นได้ ว่าไม่มีใครเกิดขึ้น ไม่มีใครดำเนินอยู่ หรือไม่ได้มีใครตายไป เป็นกลไกของธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวธรรมนั้น ๆ ทุกอย่างล้วนเป็นกระแสธรรมชาติที่ไหลไปตามเหตุปัจจัยนั้น ๆ

เพียงแต่อุปาทานมันมาหลอกว่ามีตัวเรา ให้เข้าไปยึดธรรมชาติว่าเป็นตัวตน นั่นแหละ เมื่อไปหลงกล ติดกับ ก็เลยออกจากอุปาทานไม่ได้ ออกจากตัวตนไม่ได้นั่นเอง

พอมีตัวตน พอมีตัวเรา การเก็บสะสมก็เริ่มขึ้น การมีบุญ มีบาป มีกรรม วิบากกรรม ก็เริ่มเกิดขึ้น ความทุกข์ ความสุข จึงเริ่มมีขึ้น นับจากนั้น

ธรรมชาติไม่เคยลำเอียง ยุติธรรมที่สุด ทำไว้อย่างไร ก็ส่งคืนให้อย่างนั้น

จึงยังต้องส่งให้เวียนเกิด เวียนตาย เวียนมาใช้ความเป็นตัวเรา สืบทอดทุกชาติไป

ถ้าอินทรีย์แก่กล้า มีปัญญาเห็นธรรมของพระพุทธองค์ได้ แล้วเริ่ม แอ๊ะ...ว่า

.... หรือ....มันไม่มีตัวเรา หรือ...มันไม่ได้มีตัวใคร อย่างที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้จริง ๆ

พระพุทธองค์ท่านทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์...ในกฎของธรรมชาติ ที่มันไม่ได้เป็นตัวใครของใคร

เมื่อนั้น ท่านอาจจะมองเห็นทาง ที่พระพุทธองค์ท่านทรงชี้ไว้ ว่าไม่ได้มีตัวใครของใครในขันธ์ห้าเหล่านั้นเลย

ทางที่จะออกจากสังสารวัฏอันยาวนาน ก็จะเริ่มมองเห็นรำไร เมื่อตั้งเป้าให้ตรงไปที่การละอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านั้น นั่นเอง
...

.......................

กฏธรรมชาติ 


กฏของธรรมชาติ  เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ  ความที่มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง  ผู้ที่รู้  ผู้ที่เห็นจริงในธรรมชาติ  ก็จะเข้าใจในความที่มันเป็นธรรมชาติ  ไม่ได้เป็นตัวใครของใคร  แล้วเห็นความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา

จึงไม่ไป บังคับบัญชาให้มันต้องเป็นอย่างนั้น  ต้องเป็นอย่างนี้  อย่างที่ต้องการ  เพียงแต่คอยดูการเกิดขึ้น   การตั้งอยู่  และการดับไป  ที่เกิดขึ้นในกลไกของขันธ์ห้า  แล้วพิจารณาเห็นสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง

ความจริง  ธรรมชาติเป็นของที่มองเห็นได้ง่าย  ไม่ได้สลับซับซ้อนมากมาย
เพียงแต่จะมีใครมองเห็นความง่ายเหล่านั้นบ้าง เท่านั้น

ไม่เคยมีใคร เป็นเจ้าของอะไรอย่างแท้จริง

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ อุปาทาน  อุปาทานว่านี่เป็นตัวเรา  นั่นเป็นของเรา

แท้จริงมันไม่ใช่ ของใครเลย  เป็นของธรรมชาติ  ที่ถูกอุปาทานยึดไว้เท่านั้น

อุปาทานที่เป็นยางเหนียว   ยึดเหนี่ยวให้ต้องมีขันธ์ห้า  วนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสารไม่มีวันสิ้นสุด

ทั้งที่ความจริงแล้ว  ไม่ได้มีของใครทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นของธรรมชาติ

ทุกอย่างต้องคืนสู่ ธรรมชาติทั้งหมด

มันเป็นการประกอบกันขึ้นตามเหตุปัจจัย ณ ชั่วขณะหนึ่ง ๆ แล้วเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่มาผลักดัน 
มีเพียงอุปาทานเท่านั้นที่เกิดขึ้น  แล้วเห็นผิดคิดว่าเป็นตัวเราของเรา  ความทุกข์จึงต้องเกิดขึ้นเพราะมีอุปาทานนั่นเอง

มารู้จักอุปาทาน  กันสักนิด...


อย่างเช่นที่เห็นง่าย ๆ กับ....เหตุแห่งทุกข์

เมื่อ 3 ปีก่อน  ในไร่ที่ซื้อไว้นานแล้ว  ไม่ได้มีต้นมะม่วงอยู่  พอมาวันนี้ได้พบว่า  มีต้นมะม่วงเกิดขึ้น  ออกดอกออกผลเต็มต้น 
ซึ่งเกิดขึ้นมาตามเหตุ ปัจจัย  คนเดินผ่านไร่ทิ้งเม็ดมะม่วงไว้ในที่เรา  แล้วมันงอกขึ้นมาเองตามเหตุปัจจัย คือมีเม็ดมะม่วง  มีดิน มีน้ำ  มีอากาศ เพียงพอ  มันก็งอกของมันเอง  แต่อยู่ในที่ของเรา  มันก็เลยเป็นของเราไปโดยปริยาย

กระบวนการความทุกขเริ่มเกิด  เมื่อมีเหตุแห่งทุกข์ปรากฏ

มะม่วงต้นเดียว  ทำให้คนทุกข์ได้

พอกลับมาบ้าน ก็ห่วงต้นมะม่วง กำลังออกลูกจะมีใครแอบมาสอยไปไหม?  คนเดินผ่านจะลักขโมยมะม่วงของเราหรือเปล่า

เราจะล้อมรั้วดีไหม  คนจะได้ไม่เดินผ่าน  มะม่วงจะได้ไม่หาย

กลับมานอนครุ่นคิด  ฟุ้งซ่านไปสารพัด  ด้วยความกังวล

อยู่ห่างจากไร่แสนไกล  แต่ความทุกข์ตามกลับไปด้วย  เพราะเกิดขึ้นในขันธ์ห้า ปรุงแต่งในขันธ์ห้า


ต้นมะม่วง  มันก็ยังคงเป็นต้นมะม่วงอยู่อย่างนั้น  มันไม่ได้เป็นของใคร  มันเติบโตตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ

มันเป็นของธรรมชาติ  มันไม่ได้เป็นของใคร
และมะม่วงก็ไม่รู้ด้วยว่า  มันได้ทำให้ใครทุกข์บ้างหากแต่บุคคลนั้น  ไปยึดด้วยอุปาทานว่ามันเป็นของเรา   อยากบังคับบัญชาให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  แล้วบังคับไม่ได้  ก็ต้องทุกข์ไปเป็นธรรมดาเมื่อก่อนไม่มีทุกข์  เพราะยังไม่มีต้นเหตุให้ทุกข์

พอมะม่วงต้นนี้เกิดขึ้นมา   อุปาทานเกาะทันที  ว่าเป็นของเรา

กระบวน การทุกข์  สุข  ก็เกิดขึ้นทันที

เห็นต้นมะม่วงทีไร  ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ที่เห็นมันเติบโตออกดอกออกผล

มีความสุข...กับมะม่วง ต้นนั้น  ทั้งที่ไร่ข้าง ๆ ปลูกเป็นร้อยต้นก็ไม่ใส่ใจไปสุขไปทุกข์กับของเขา

เพราะนั่นไม่ใช่...ของเรา...

ผลมะม่วงหายไป  ทุกข์อกทุกข์ใจ  แค้นเคือง
ความทุกข์  มีขึ้นจากเหตุมะม่วงต้นนั้น

นี่คือความเป็นธรรมดา  ของอุปาทาน ที่หลงยึดมั่นถือมั่น  ว่านั่นเป็นเรา  นั่นเป็นของเรา
 หากยังเห็นว่านั่นเป็นเรา  นั่นเป็นของเรา
การที่จะ ออกจากทุกข์  ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

นี่คือเรื่องที่มองเห็นง่าย ๆ ว่าทุกข์เกิดขึ้นได้เพราะ...อุปาทาน

หากผู้ที่เข้าใจ  ไม่อุปาทาน  ก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งนั้น มีขึ้นมาเองก็ดีแล้ว  ไม่ต้องเสียเวลาไปปลูก  ให้ผลได้กินบ้างก็ดีแล้ว   หายไป หรือคนอื่นเอาไปกินบ้าง  ก็เป็นธรรมดา  เพราะว่าไม่มีใครเฝ้า  คนเขาก็มาสอยไปกินเป็นธรรมดา

อย่างนี้ เข้าใจในความเป็นอย่างนั้นเองของธรรมชาติ  ไม่ไปอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นมากนัก  ก็ไม่ทุกข์เพราะเหตุนั้น

ถ้าเราเข้าใจขันธ์ ห้า   รู้จักอุปาทาน  ก็จะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานเหล่านั้นมากนัก  มีได้  เป็นได้ เกิดขึ้นได้  แต่ไม่ไปยึดกับมัน

หากยึดมาก  ก็ทุกข์มาก  ยึดน้อย ก็ทุกข์น้อย  ไม่ยึด  ก็ไม่ทุกข์

มันขึ้นอยู่กับอุปาทาน  นั่นเอง.


......

อุปาทาน  ไม่ใช่สิ่งที่จะมองเห็นกันได้ง่าย ๆ

แต่หากมีความเข้าใจ  ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมองเห็นได้ยากเลย

หากมีความเข้าใจกลไกของธรรมชาติ  รู้เท่าทันขันธ์ห้า
ก็จะเห็นโฉมหน้าของ...อุปาทาน

อยู่กับอุปาทานทุกวัน แต่ไม่เคยเห็นมันเลยสักครั้ง

เพราะมัน...อุปาทานว่านี่เป็น..ตัวเรา  นั่นเป็น..ของเรา

จึงมีตัวเรา  และของเราอยู่ตลอดเวลา  เชื่อตามที่อุปาทานมันหลอกไว้  หลงยึดในความมี ความเป็นเหล่านั้น

จึงมีคนมากมายที่ทุรนทุรายไปกับความอยากได้นั่น  อยากได้นี่   ความอยากมี  ความอยากเป็น  หรือความไม่อยากมี  ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น  อย่างนี้ 

เมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการ  ก็....อุปาทานทุกข์กันไป 

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกเราทุกวันนี้

ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ
ยึดมากทุกข์มาก ยึดน้อยทุกข์น้อย ไม่ยึดไม่ทุกข์  นั่นเอง.



.....

ธรรมะ ธรรมชาติ มีหนึ่งเดียวไม่เคยแบ่งแยก

มีแต่อวิชชา คือความไม่รู้เท่านั้นที่เป็นตัวแบ่งแยก ให้มีการเปรียบเทียบ ให้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ให้มีการแข่งขันกันในความรู้ ในศาสตร์ทั้งหลายทั้งปวงที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ
แต่โดยความเป็นธรรมชาติแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ
ถ้าเห็นพระอาทิตย์ขึ้น คนหนึ่งเข้าใจว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และมันต้องขึ้นอย่างนี้ทุกวัน

แต่อีกคนเข้าใจว่า พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และมันจะขึ้นทางทิศตะวันตกทุกวัน

อีกคนคิดว่าขึ้นทางทิศเหนือ และมันจะขึ้นทางทิศเหนือทุกวัน

ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร  ไม่ว่าจะสมมุติทิศนั้นว่าชื่ออะไรด้วยความเข้าใจที่แต่ละคนมี
ก็จะยึดมั่นว่าสิ่งที่ตนเข้าใจนั้นถูกต้อง  ของผู้อื่นนั้นไม่ใช่

ดังนั้น  ต่างฝ่ายต่างก็มุ่งที่จะให้คนอื่นมาเชื่อในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ
 
แม้จะทุ่มเถียงกันไปมาอย่างไร ?

พระอาทิตย์ ก็ต้องขึ้นทางทิศนั้นอยู่ดี

ไม่ว่าคนจะเรียกทิศนั้นว่า ตะวันออก ว่าตะวันตก ว่าเหนือ ว่าใต้

พระอาทิตย์ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กันใคร   มันยังคงทำไปตามธรรมชาติ

คนสามคนยังทุ่มเถียงกันไม่สิ้นสุด ความทุกข์ ความสุข ความร้อนรนกระวนกระวายก็จะยังเกิดกับบุคคลเหล่านั้นต่อไป

เพราะต่างต้องการให้เป็นไปตามความเห็นของตน

ความทุกข์จึงเกิดขึ้นเพราะอุปาทาน  ยึดในสิ่งที่เราเข้าใจว่าสิ่งนั้น  มันถูกต้องแล้ว

ดังนั้น การตัดสินสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากมุมมองของตนโดยไม่รู้จริงตามธรรมชาติ ก็ย่อมมีแต่ว่า จะต้องมีข้างใดข้างหนึ่งผิด ข้างใดข้างหนึ่งถูกอยู่ตลอดเวลา และการทุ่มเถียงกันก็ไม่มีวันสิ้นสุด

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ ดูเข้าไปในสภาวะจิตขณะนั้น ขณะที่มีการทุ่มเถียงกัน  มีการตัดสินลงความเห็น ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือขณะที่มีการกล่าวถึงบุคคลอื่น ๆ อยู่นั้น

สภาวะข้างในกำลังมีความรู้สึกแบบใด ร้อนรนไหม ขึ้นลงด้วยแรงโทสะ โมหะไหม ?
หากมีความร้อนรุ่มในสภาวะจิตในขณะนั้น ๆ ควรจัดการกับสภาวะจิตของท่านก่อนสิ่งอื่นใด เพราะเรื่องนี้เร่งด่วนและจำเป็นที่สุดสำหรับท่าน ไม่จำเป็นต้องไปจัดการกับสภาวะการณ์ภายนอกเลย

ดังนั้น การปฏิบัติธรรมจึงมีหลากหลายวิธีตามแต่จริตของแต่ละบุคคลนั้น จึงไม่มีการปฏิบัติแนวทางใดดีกว่ากัน ทุกแนวทางเป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลนั่นเอง

การแบ่งแยก การเอาความเห็นของตนเองตัดสิน จึงมิได้ไปเปลี่ยนแปลงความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติได้
เพราะไม่ว่าใครจะเข้าใจว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศใดก็ตาม

พระอาทิตย์ก็ยังคงขึ้นอยู่อย่างนั้น ..... นั่นเอง.


....

สมมุติ  คือความว่าง
ว่างโดย....สมมุติ


โลกเราทุกวันนี้  ยึดติดอยู่กับสิ่งสมมุติ  และยึดในสมมุตินั้น จึงถูกขังอยู่ในกรอบของสมมุติจนดิ้นไม่หลุด

ถ้าอยู่เหนือสมมุติได้  ก็จะเป็นอิสระจากสิ่งที่มาบีบบังคับ  กักขังเราไว้

เราลองมารู้จักสมมุติกันสักนิด  อาจจะเปิดมุมมองให้เห็นความเป็นธรรมชาติได้มากขึ้น

สมมุติชื่อ  ชื่อโดยสมมุติ...
เราเกิดมา  ก็ไม่ได้มีชื่อมาก่อน  แม่ตั้งชื่อให้ว่า  ....  สมชาย
นับจากวินาทีนั้น  สมชาย  มีความหมายที่สุด  สำหรับขันธ์นี้
พอเริ่มจำความได้  แม่เรียกขานชื่อนี้  เราจะยึดทันที  เอาสมมุติคำว่าสมชายมาทาบที่ตัวเรา  นั่นเท่ากับว่า  คำว่า...สมชาย...ขังเราไว้เรียบร้อยแล้วตัวหนังสือไม่กี่ตัว  มีอิทธิพลกับสุขทุกข์ได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ
ใครเอ่ยชื่อสมชายเก่ง    ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่  ภาคภูมิใจมีความสุข
ใครเอ่ยชื่อ  สมคิดเก่ง   ก็จะไม่สนใจ  เพราะไม่ได้บันทึกไว้ว่าเป็น  เรา

ทะเลาะกับเพื่อน  มายืนชี้หน้าแล้วด่าว่า  สารพัดคำพูด  เราโมโหตาลาย  พอสุดท้ายพูดว่า ระวังไว้เหอะ..สมพร

อาการโมโหหายไป  อ๋อ...ด่าผิดคน  เข้าใจผิดคิดว่าเราเป็นสมพร

ความจริง  ด่าแล้วชี้หน้าด้วย  ไม่ผิดคนหรอก  แต่เรียกผิดชื่อเท่านั้น

ความทุกข์ไม่เกิด  เพราะไม่ได้ด่า...สมชาย  สมพรไหนก็ไม่รู้

เพราะมีตัวตนของสมชาย    หากเอ่ยชื่อนี้จะมีความหมายมากเลย

หรือเดินไปได้ยินคนเอ่ยชื่อแว่ว ๆ ว่า สมชาย  แล้วหันไปซุบซิบนินทากัน

เอาไปคิด เอาไปกังวล  ว่าเรานินทาเราเรื่องอะไร  ทุกข์ไปหลายวัน

พอไปถามคนนั้น เขาบอกว่า   อ๋อ..พูดถึงสมชายขายไก่ย่างหน้าปากซอย เอาไก่ย่างมาให้ไม่ครบตามจำนวนเงินทุกที

เฮ้อ...โล่งไป   ทำเอาทุกข์  กังวลเสียหลายวัน ที่แท้นินทาสมชายไก่ย่างนั่นเอง
ทุกข์...เพราะอุปาทานที่ผ่านไปแล้ว  ก็เรียกคืนไม่ได้
จึงทุกข์ฟรีไปด้วย ประการฉะนี้


แต่พออยู่มาวันหนึ่ง   ....นึกอยากเปลี่ยนชื่อ  ไม่อยากได้แล้วสมชาย  เกิดถูกใจคำว่า  สมศักดิ์  เปลี่ยนเป็นสมศักดิ์ดีกว่า  เท่ห์ดีก็ย้ายที่ขังใหม่  ไปอยู่ใน...สมศักดิ์...แทน
คราวนี้  พอใครเรียกสมชาย  ใครว่าสมชาย  ก็จะไม่หวั่นไหวเท่าใด  เพราะเปลี่ยนใหม่แล้ว....เป็นสมศักดิ์

อยากว่าสมชายว่าไป  แต่อย่าว่าสมศักดิ์ก็แล้วกัน  มีเรื่องแน่

การยึดมั่นในชื่อสมชาย  ก็จะน้อยลง  ความทุกข์เกี่ยวกับสมชาย  ก็จะน้อยตามไปด้วย
เพราะชื่อนั้น  เริ่มไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก

เปลี่ยนไปยึดชื่อใหม่  ที่เอาคำว่า สมศักดิ์ มาวางทาบกับตัวตน  ของตนไปเรียบร้อยแล้ว
น่าแปลก  ที่ตัวตน  ยังเป็นเหมือนเดิม  หน้าตาก็ยังเหมือนเดิม  วัน เดือน  ปีเกิด ก็ยังเหมือนเดิม  บิดามารดา ก็ยังคนเดิม  บ้านที่อยู่ก็ยังที่เดิม
แล้วเป็นคนใหม่ที่ตรงไหนกันนี่ ?
อ้อ... เป็นคนใหม่  ตรงที่....อุปาทาน....เปลี่ยนไปนั่นเอง

ไปยึดชื่อใหม่  เปลี่ยนการยึดใหม่  ไปสุข ทุกข์  กับสมศักดิ์  แทนสมชาย นั่นเอง
เมื่อคนนี้ไม่เอาสมชาย  เปลี่ยนใหม่แล้ว
แล้วสมชายหายไปไหน  สมชายไปอยู่ที่ไหน
   


สมชายก็ไม่ได้ไปไหน  เพราะสมชาย  เป็นสิ่งสมมุติมาตั้งแต่แรกแล้ว  ไม่ได้มีตัวตนจริง  เป็นสมมุติภาษา ในความเป็นสมชาย มันเป็นความว่างอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว  มันว่างจากการเป็นตัวใครของใครมาตั้งแต่แรกแล้ว

มันไม่ได้มีตัวตนมาตั้งแต่แรก  มันว่างจากการเป็นตัวใครของใคร  มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น
เพียงแต่ใครเอาธรรมชาติไปใช้  แล้วไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมชาตินั้น  จากความว่างของธรรมชาติ  จึงกลายเป็นมีตัวตน  มีความหมายขึ้นมาทันที

ใครสมมุติอะไร  แล้วเอาไปวางทาบกับอะไร  สิ่งนั้นจะมีความหมายทันที

สมชาย  คือความว่างของธรรมชาติ   รอเมื่อไร  ที่มีใครนำเอาสมมุตินี้ไปใช้  แล้วไม่รู้เท่าทัน
จากความว่างก็จะกลายเป็นความวุ่นทันที  ด้วยความมีอัตตาตัวตนของคนคนนั้น
ถ้ามีความเข้าใจ  มันก็ยังเป็นของว่างได้ ทั้ง ๆ ที่กำลังใช้มันอยู่
นั่นคือ...
มีได้  เป็นได้  อยู่กับทุกอย่างได้  แต่ว่างจากการอุปาทานนั่นเอง


ดังนั้น  เราจะเห็นว่า สิ่งที่ทำให้คนเรา  สุข  ทุกข์  อยู่ตลอดเวลา  ก็เพราะว่าอุปาทานนั่นเอง

และยิ่งอุปาทานว่าขันธ์ห้านี้เป็นตัวเรา  สิ่งทั้งหลายนี่เป็นของเรา  อุปาทานจึงมีที่ให้ไปเกาะมากมาย  หากไม่เข้าใจ  ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นได้...เป็นธรรมดา

แต่มิได้มุ่งหมายว่า  ต้องละวางทุกอย่าง  ออกจากทางโลก  ละทิ้งทุกอย่างไป  จะได้ไม่ต้องทุกข์

ไม่ใช่เช่นนั้น  เป็นความเข้าใจผิด  การออกจากอุปาทาน  ออกได้ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของโลกปัจจุบัน  เพราะการออก  ก็คือออกจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า  ในอุปาทานเหล่านั้น
   
รู้กลไก  รู้วิธีการหลอกล่อของอุปาทาน  ที่หลอกให้ไปยึดมั่นถือมั่น  แล้วมันก็แบ่งปันความทุกข์มาให้

เพียงมีความรู้เท่าทันขันธ์ห้า  รู้เท่าทันอุปาทาน  ที่มันจะหลอกให้ไปยึด  ไปรับ  ไปแบก  เอาสิ่งต่าง ๆ ไว้  โดยไม่วางมันลง  จึงมีแต่ความหนักอกหนักใจ  มีอัตตาตัวตนมากมาย  ให้แบกให้ยึด
ถ้ารู้เท่าทัน  มีความเข้าใจ

อยู่กับทุกสิ่งทุกอย่างได้  โดยไม่ติดกับมัน

ใช้ของทุกสิ่งทุกอย่างได้  โดยไม่ทุกข์กับมัน

อยู่กับสมมุติได้  โดยไม่ไปยึดติดในสมมุติเหล่านั้น

เพียงแค่รู้จัก  เข้าใจในกลไกของขันธ์ห้า  ที่ถูกผลักโดยตัณหา...อุปาทาน

เห็นตามความ เป็นจริง  ว่ามันมีกลไกอย่างไร
ถ้ารู้ เข้าใจ ปล่อยวางได้

ก็จะไม่ทุกข์กับ...สมมุติ...เหล่านั้น

ขอให้ท่านลองพิจารณาไตร่ตรองดูว่า  เคยถูกอุปาทานในขันธ์ห้าหลอกบ้าง หรือไม่?

เพื่อจะได้รู้เท่าทันกันเสียที

...

อวิชชา  คือความไม่รู้จริงตามธรรมชาติ  ไม่รู้จริงในกฏสัจจะธรรม  คือรู้ผิดจากกฏของธรรมชาติ  มีความเห็นแตกต่างไปจากความเป็นจริงของธรรมชาติ   แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้ในสิ่งที่ไม่ดี  ในสิ่งที่ชั่วหรือเลว

วิชชา  คือความเห็นที่ถูกตรง  รู้ตามความเป็นจริงของกฏธรรมชาติ  ที่ไม่ได้เป็นตัวใครของใคร  มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง   แต่ไม่ได้หมายความว่า  สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูก   หรือสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี 

เพราะธรรมชาติมีเพียงหนึ่ง เดียว  ไม่มีผิด  ไม่มีถูก ไม่มีดี  ไม่มีชั่ว

ธรรมชาติ  เป็นของธรรมชาติอยู่อย่างนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าใครจะไปอุปาทานอย่างไร  ว่านั่นดี  นั่นไม่ดี  นั่นผิด  นั่นไม่ผิด  ธรรมชาติก็ยังคงเป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิด  ความต้องการของใคร

ถ้ายังคิดว่ามีสิ่งใดผิด  สิ่งใดถูก  สิ่งใดดี  สิ่งใดชั่ว  นั่นหมายความว่า 

บุคคลนั้น  ได้หลงยึดในอวิชชาไปก่อนหน้านั้นแล้ว  จึงเกิดมีตัวเราขึ้นมา  คือมีอุปาทานว่าขันธ์ห้านี้  เป็นตัวตน  จึงรู้ว่ามีตัวเรา  มีตัวเขา  จึงได้แบ่งว่าเขาดี  เขาไม่ดี เราดี  เราไม่ดี  เราถูก  เขาผิด  เขาชั่ว  เราดี  หรือว่า  สิ่งนั้นไม่ถูก  สิ่งนี้ไม่ดี

ซึ่งโดยความจริงแล้ว  ธรรมชาติไม่เคยแบ่งแยกอะไร  มีแต่อุปาทานของผู้ที่หลงยึดเท่านั้น  ที่เป็นผู้แบ่งแยก
คนกลุ่มหนึ่งเห็นคนนี้ว่า....ดี คนกลุ่มหนึ่งเห็นคน นี้ว่า....เลว

ทุ่มเถียงกันไป  ด่าทอกันไป  แบ่งกลุ่ม  แบ่งพรรค  แบ่งพวก  ก็ด้วยความเห็นที่แตกต่างกันแล้วทำไมทุกคนจึงไม่เห็นเหมือนกันว่า.....คน นี้....ดี
แล้วทำไมทุกคนจึงไม่เห็นเหมือนกันว่า.....คนนี้....เลว
ทำไมต้องมีการเห็นที่แตกต่าง  ฉันว่าคนนี้ดี  แต่อีกคนว่าเลวบรรทัดฐานอยู่ตรงไหน  ที่ว่าดี  ว่าเลว
เหตุผล  ข้อหักล้าง  หรือความถูกใจ

ธรรมชาติไม่เคยแบ่งแยก  ....  แต่อวิชชา  คือความไม่รู้จริงตามธรรมชาติต่างหาก  ... ที่เป็นตัวแบ่งแยก

นั่นคือ   มีความเห็นผิดตั้งแต่ต้น  คือเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ  จึงเห็นว่าขันธ์ห้านี้เป็นตัวตน  เป็นของตน   จึงได้เกิดมีเรา มีเขาขึ้น  ด้วยอุปาทานหลงยึดว่าขันธ์ห้าของธรรมชาตินั้นเป็นตัวเรา

นี่คือ  อวิชชา  คือความเห็นผิดจากธรรมชาติ  เห็นดินน้ำลมไฟของธรรมชาติ  ที่มารวมกันตามเหตุปัจจัยที่ส่งมา  แล้วอุปาทานว่า  นี่เป็นตัวเรา  นั่นเป็นของเรา

เมื่อใดที่เห็นว่า   ธรรมชาติแบ่งแยกเป็นสองสิ่ง  นั่นคือความไม่เข้าใจในความเป็นธรรมชาติ  เพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเอง  เป็นอย่างเดียวที่ไม่มีการแบ่งแยก  ว่าดี  หรือไม่ดี  ธรรมชาติก็เป็นอย่างที่เป็นนั่นแหละ  มันเป็นอย่างนั้นเอง

ผู้ที่มีอวิชชา  ไปอุปาทานต่างหาก  ว่าเป็นนั่น  เป็นนี่  ว่าดี  ว่าชั่ว  ว่าถูก  ว่าผิด

การที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในโลก สมมุติ   ก็ย่อมจะแบ่งแยกว่าเป็นนั่น  เป็นนี่  ก็แบ่งโดยสมมุติ  โดยผู้ที่ยังมีอวิชชา  มีความเห็นว่ามีตัวตน  จึงยังต้องสมมุติกันอยู่  เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันว่า   เล็ก  ใหญ่  กว้าง  แคบ   ยาว  สั้น   สูง  ต่ำ  ดำ  ขาว  ถูก  ผิด  ดี  ชั่ว
หากอยู่เหนือสมมุติ  ทุกอย่างก็ไม่มีจริง  เป็นธรรมชาติ   ไม่มีตัวตน  ไม่มีของตน  ไม่มีการเปรียบเทียบ แบ่งแยกใด ๆ ทั้งสิ้น
นั่นคือมีความรู้ที่ถูกตรงกับกฏธรรมชาติ  คือมี   วิชชา  คือความรู้จริงตามธรรมชาติ  ที่ไม่ได้เป็นตัวตน  นั่นเอง
....


การเรียนรู้  การทำความเข้าใจในธรรมะ  หรือกฏธรรมชาติ  ไม่ได้เป็นเรื่องยากมากมาย
หาก เห็นได้  รู้จริงได้  ก็ปล่อยวางได้ง่าย ๆ เช่นกัน

ดังนั้น  การเข้าใจในธรรมะเพื่อการละวางอัตตา  ละการยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ห้า  ในอวิชชาทั้งหลาย  ที่เป็นต้นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด  สร้างภพสร้างชาติไม่จบสิ้นนั้น
จะว่าเป็นเรื่องยาก....ก็ยาก
จะว่าเป็นเรื่อง ง่าย....ก็ง่าย
ความง่าย  ก็คือทำความเข้าใจได้ไม่ยาก   หากเข้าใจจริง  เห็นจริงตามนั้น  ปฏิบัติตาม ละวางอุปาทานขันธ์ห้าได้
ก็จะเห็นผลของ การปล่อยวาง  คือจางคลายจากทุกข์ได้นั่นเอง
ความยาก   ยากตรงไหน
ยากตรงที่  จะเชื่อได้อย่างไร...ว่าธรรมะ  ว่ากฏของธรรมชาติ  จะเข้าใจได้ง่ายถึงเพียงนี้

นี่คือความยาก   .....  คือยากที่จะเชื่อกับเรื่องง่าย ๆ

จึงหันหลังให้   แล้วไปเสาะแสวงหาคำตอบ  หารูปแบบที่ยาก ๆ  รูปแบบที่ต้องการต่อไป  นี่คือความยาก  คือยากที่จะเชื่อได้นั่นเอง
ผู้ที่เข้าใจได้  ผู้ที่มารวมกันได้  ก็คือผู้ที่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวดในอันดับแรก

คือการให้โอกาสตนเอง  ได้ลองศึกษา  ได้ลองพิจารณา  แล้วใช้ปัญญาไตร่ตรอง

ว่าผิดแผกแตกต่างไปจากธรรมะที่เคยได้ยินได้ฟังมาหรือไม่
แล้วใช้ขันธ์ห้า นี้  ทดสอบ ทดลอง   ว่าจะเห็นผลอย่างที่ได้กล่าวไว้หรือไม่
เมื่อเบาบางจางคลายได้จริง  จึงค่อยเชื่อ  จึงค่อยมาปฏิบัติในส่วนอื่น ๆ ต่อไป
ซึ่งนั่นก็คือให้โอกาสตนเอง

ดังนั้นการใช้ปัญญา  การพิจารณาไตร่ตรอง   จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง...
เพราะการปฏิบัติธรรมของกลุ่มประสานงานเพื่อการ เตือนภัย(เขากะลา)  เน้นการวิปัสสนาเป็นหลัก    คือการเห็นจริงตามธรรมชาติ   โดยการใช้ปัญญาตัดอุปาทานในขันธ์ห้านั่นเอง. จึงไม่มีรูปแบบให้ยึดติด  ให้ต้องทำอย่างนั้น  อย่างนี้  ต้องปฏิบัติเช่นนั้น  เช่นนี้  ต้องอยู่ในกรอบอย่างนั้น  อย่างนี้
ดังนั้น  รูปแบบจึงเปลี่ยนไป  ไม่เคยทำสิ่งใดนานจนยึดมั่นว่านี่คือรูปแบบ   และผู้ทำงานทุกคน  ก็มุ่งเน้นที่จะรักษาประโยชน์ตนเป็นหลัก  คือมุ่งพิจารณาขันธ์ห้าเป็นหลัก เพื่อถอนจากการยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ห้าว่าเป็นตัวตน  ของตนนั่นเอง
...


“กฎแห่งกรรม”
ไม่เคยลำเอียง.....ใครทำใครได้

คือ ใครทำอย่างใด ก็จะได้อย่างนั้น

เพราะไม่ว่าใคร...คิดอย่างไร  ก็จะได้รับผลนั้นทันทีตามความคิดนั้น ๆ

ทางโลก จึงมีการแก่งแย่ง  ชิงดีชิงเด่น  อาฆาตพยาบาทซึ่งกันและกัน  โลกจึงมีแต่ความรุมร้อนด้วยเพลิงโทสะ
แต่ในทางธรรม....การให้อภัย  การให้ความเมตตาซึ่งกันและกัน  เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

เพราะจะทำให้บุคคลนั้น ...  ไม่ต้องจมอยู่กับความทุกข์... ที่เกิดจากความคิด และอารมณ์นั่นเอง

เพราะการคิดอาฆาต พยาบาท คิดมุ่งร้าย คิดจะทำลายกัน บุคคลนั้นก็ได้รับผลไปแล้ว ในขณะนั้น

นั่นคือ มีความทุกข์ มีความร้อนรน มีความขุ่นเคือง มีความหนักหนาสาหัสของความมีตัวตนที่หนักอึ้งเกิดขึ้นในขณะนั้น

ณ ขณะนั้น ณ วินาทีนั้น ณ ปัจจุบันนั้น เขาก็มีความทุกข์ของเขาอยู่แล้ว ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งตามธรรมชาติ

เพราะ เมื่อคิดร้าย สารเคมีประเภทความรุมร้อน ก็หลั่งออกมา อารมณ์ก็ขุ่นมัว ร้อนรน นั่นคือบุคคลนั้นกำลังรับทุกข์อยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น

คือ

มองไม่เห็นทุกข์ - คือยังมองไม่เห็นข้อแรกของอริยสัจ 4

แล้วข้อที่ 2 ข้อที่ 3 ข้อที่ 4 จะมีปัญญาเห็นหรือ ?

เพราะ ต้องเห็นข้อ 1 ก่อน ต้องเห็นว่านี่คือ ทุกข์ รู้ว่ากำลังทุกข์อยู่ ความร้อนรนด้วยไฟโทสะ ความร้อนด้วยเพลิงอาฆาตพยาบาท มันเป็นข่ายทุกข์ มันเป็นความทุกข์

เมื่อเห็นข้อ 1 ว่ากำลังทุกข์อยู่ จึงจะขนขวายหา เหตุแห่งทุกข์ หาทางดับทุกข์ แล้ว ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์นั้น

แต่.... ขณะที่กำลังทุกข์ ร้อนรนกันอยู่ จะมีปัญญาพิจารณาหรือไม่ ว่ากำลังปรุงทุกข์ทิ่มแทงตนเองกันอยู่

ในทางธรรมะจึงมีการให้เปลี่ยนความคิด เพื่อจะได้ไม่ต้องไปทุกข์กับอารมณ์เหล่านั้น

หากคิดพยาบาท อย่าเลย ให้คิดเมตตากันดีกว่า
หากคิดริษยา อย่าเลย ให้มีมุทิตาจิต(พลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ีดี)กันดีกว่า

นี่คือ ทางธรรมะก็มีทางออกให้ มีทางแก้ไขผู้ที่กำลังทุกข์อยู่ ให้เห็นทางออกจากทุกข์ คือมีเมตตากันและกัน

มีความเข้าใจ มีการให้อภัย ความร้อนรนด้วยเพลิงโทสะทั้งหลายก็จะกลายเป็นความสงบเย็น

สิ่งที่ได้กล่าวไว้อย่างต่อเนื่องก็คือ

การไม่ส่งจิตออกไปนอกตนเอง ไม่ส่งจิตออกไปตัดสินใคร มุ่งเน้นให้เห็นการปรุงแต่งของอุปาทานในขันธ์ห้าของตนเองเท่านั้น มุ่งที่จะพัฒนาความสามารถในการเห็นความว่าง ว่างจากยึดมั่นในอัตตาตัวตน ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ห้า ที่คิดว่าเป็นตัวตน ของตน

ดังนั้น การไปมองที่ขันธ์ห้าคนอื่น การไปคาดคะเน การไปประเมินปัญญาของคนอื่นนั้น มันเป็นการเห็นผิดตั้งแต่ทีแรก

นั่นคือ....มองออกไปไกลจากขันธ์ห้าของตนนั่นเอง



ดังนั้น หากทุกท่านที่ได้ศึกษาธรรมะเพื่อการละวางอัตตาอย่างถ่องแท้ เห็นตามธรรมของพระพุทธองค์ที่กล่าวไว้ ให้พิจารณาว่าขันธ์ห้านี้มิใช่ตัวตน ของตนแล้ว ท่านย่อมไม่ไปชี้ผิด ชี้ถูก กับใครทั้งสิ้น เพราะทุกคนมีวิบากกรรม ที่ติดตัวมากันทั้งนั้น มีสติปัญญา มีการพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติสัมปชัญญะ ตามแต่กรรม วิบากกรรมของแต่ละท่านเอง

หาก เราลองมองย้อนกลับไป เวลาเราพบคนที่เขายังนับถือต้นไม้ใบหญ้า นับถือก้อนหินก้อนดิน เราจะคิดว่า ทำไมเขาไม่มีปัญญามองเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันไร้สาระ มันช่วยไม่ได้จริง มันเป็นสิ่งที่ผิด มันไม่ใช่ทางหลุดพ้น

แต่คนกลุ่มนั้น เขาย่อมมองเห็นว่าเขาทำถูกต้อง มองเห็นว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดของเขาแล้ว เพราะเขามีปัญญาแค่นั้น มีวิบากอย่างนั้น ต้องเกิดมาอยู่ในถิ่นที่มีความเชื่อแบบนั้น ซึ่งเป็นการยากที่จะไปเปลี่ยนความเชื่อเขาเหล่านั้น

หากท่านเป็นห่วง อยากช่วยเหลือ อยากเปลี่ยนแปลงเขาเหล่านั้น ท่านก็เป็นทุกข์เอง เพราะความทุกข์มันเกิดอยู่ในขันธ์ห้าของท่าน แล้วยื่นออกไป ทั้ง ๆ ที่ไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย

ท่านจึงต้องใช้ปัญญาเพื่อพิจารณาแล้วปล่อยวาง ให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นเองตามเหตุปัจจัย สติปัญญาของเขามาได้...เท่ากับวิบากของเขาเท่านั้น

หากท่านมองไปยังจุดอื่น ๆ ในปัจจุบัน มีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปยังจุดต่าง ๆ มากมาย มีหลากหลายวิธีการปฏิบัติ หลากหลายสำนักมากมาย แต่ละที่ แต่ละแห่ง ก็มีการมุ่งเน้นปฏิบัติเพื่อการออกจากวัฏฏะสงสารทั้งสิ้น แล้วแต่จะเป็นรูปแบบ หรือวิธีใด ๆ

นั่นก็มิได้หมายความว่า เขาเหล่านั้นคิดผิดหรือคิดถูก แต่มันถูกต้องตามจริต ตามปัญญา ตามกรรม วิบากกรรมที่ส่งมานั่นเอง

ดังนั้น อย่าได้ไปมองว่าคนนั้นโง่ คนนี้ฉลาด เราคิดถูก เขาคิดผิด หรือมีมุมมองใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบขึ้นมา

เพราะ ทุกคน ต้องรับผิดชอบดวงจิตของตนเอง ต้องหมั่นพิจารณาไตร่ตรอง ต้องปฏิบัติจนเห็นความเบาบางจางคลายจากการยึดมั่นถือมั่นด้วยตนเอง

และที่สำคัญ ห้องเรียนของท่านคือขันธ์ห้าขันธ์นี้ ต้องหมั่นที่จะพิจารณาขันธ์ห้าของท่าน เพื่อการปล่อยวาง ละการยึดมั่นถือมั่น ในขันธ์ของท่านเอง

ไม่ต้องไปช่วยขันธ์ห้าอื่น ๆ เขาปล่อยวางหรอก เพราะช่วยกันไม่ได้ ของใครของมัน ได้แต่เพียงชี้แนะแนวทางให้ได้เท่านั้น

แต่ละท่าน ก็ต้องทำเอาเอง

ระบบ ก็เพียงแต่ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตามทฤษฎีของระบบ เพื่อให้ปล่อยวาง ละการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าของท่านเอง

ดังนั้น  การเข้ามารับรู้ เข้ามารับทราบ ในกฏธรรมชาติที่ระบบได้ถ่ายทอดไว้นี้ ท่านต้องนำไปพิจารณาไตร่ตรองด้วยตัวท่านเอง แล้วลองนำไปปฏิบัติ

เมื่อผลการปฏิบัติออกมาแล้ว

ท่านก็จะทราบได้ว่า ท่านมาถูกทางหรือไม่?

เพราะทุกอย่างเป็นปัจจัตตัง ที่ท่านเท่านั้นจะรู้เอง เห็นเอง และสัมผัสเอง.

ระบบจึงเพียง แจ้งเพื่อทราบ เท่านั้น

และจะยังคง แจ้งเพื่อทราบ ต่อไป

ขออนุโมทนากับทุก ๆ ท่านค่ะ.


.................


แกงเขียวหวานไก่....ไม่มีจริง


หลายท่านอาจเคยได้ยิน  ได้ฟังเรื่องของแกงเขียวหวานไก่...ที่ระบบได้เคยขยายให้ฟังไปบ้างแล้ว  แต่เชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่เคยได้รับทราบ   และอาจกำลังสงสัยว่า  แกงเขียวหวานไก่...ทำไมจึงไม่มีจริงความจริงแล้ว  สิ่งที่ระบบได้เคยกล่าวไว้  ว่าทุกอย่างล้วนเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ  มันเป็นธรรมชาติอยู่เช่นนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าใครจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ  ก็ไม่อาจไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้

ดอกกุหลาบ  ดอกกล้วยไม้  หรือดอกดาวเรือง   ก็เป็นดอกไม้ตามธรรมชาติเท่าเทียมกัน  แม้จะมีความแตกต่างกันในแต่ละลักษณะ  แต่ละสายพันธ์ของต้นไม้   แต่เขาเท่าเทียมกันในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  เกิดอยู่ในธรรมชาติ

ตัวต้นไม้ก็มีอยู่  ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ  โดยไม่เคยเปรียบเทียบกัน  ขึ้นมายังไง...ก็เป็นยังงั้นตามธรรมชาติ 

มีแต่มนุษย์เท่านั้น  ที่เป็นผู้เปรียบเทียบ  ใครชอบกุหลาบก็ว่ากุหลาบดีกว่า  ใครชอบกล้วยไม้  ก็ว่ากล้วยไม้ดีกว่า  ใครชอบดาวเรืองก็ว่าดาวเรืองดีกว่า   

กุหลาบดีกว่า  มีกลิ่นหอม  สีสวย  กล้วยไม้แข็ง ๆ ยังไงไม่รู้  ไม่เห็นสวยเลย
กล้วยไม้ดีกว่า  สวยคลาสสิค  ทนทาน  และมีรูปลักษณะสวยงามเป็นช่อ  กุหลาบไม่เห็นดีเลย  หนามเยอะเดี๋ยวก็เหี่ยวแล้ว
ดาวเรืองดีกว่า  ปลูกง่าย  สีเหลืองบานสะพรั่งดูแล้วเย็นตา  บูชาพระก็ได้

ดอกไม้ทั้งหลาย ไม่มีผิด  ไม่มีถูก  เขาเกิดมาตามธรรมชาติอย่างนั้น
ผู้ที่ชื่นชอบดอกไม้ทั้งหลาย  ใครชอบดอกอะไร  ก็ไม่มีผิด  ไม่มีถูก  เพราะทุกอย่างล้วนถูกต้องตามจริตของแต่ละคน

แต่ถ้าชอบดอกกุหลาบ  แต่ไม่ชอบดอกดาวเรือง  ทุกข์ใจทุกครั้งที่เห็นดอกดาวเรือง  นั่นย่อมไม่ถูกต้องตามธรรมชาติ
เพราะทุกข์นั้นมันเกิดกับเรา  ในขันธ์ 5 ของเรา  มันไม่ได้เกิดกับดอกไม้เหล่านั้น

ทุกอย่างเป็นของมันอยู่อย่างนั้น  เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสมมุติของใคร




..แกงเขียวหวานไก่



ธรรมชาติ....
การปรุงแต่ง...
สมมุติภาษา....

พอกล่าวว่า....แกงเขียวหวานไก่....หลายคนก็คงมองเห็นภาพ  สีสันของอาหารชนิดนี้  กลิ่นของแกงเขียวหวาน และรับรู้ถึงรสชาดว่าอร่อยแค่ไหน

ความหิวเริ่มถามหา  ความอยากทานเข้ามาแทนที่

อะไรกัน  แค่พูดคำว่า  แกงเขียวหวานไก่ ... แค่นี้  ทำให้คนรู้สึกหิวได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ

นั่นเพราะว่า...สัญญาที่จดจำไว้  มีหมด  ทั้งรูป  รส  กลิ่น  สีสัน  สัมผัส  และเกิดอารมณ์ความพอใจ

เมื่อเอ่ยคำว่า  แกงเขียวหวานไก่  ความจำได้  อารมณ์ทั้งหลายเลยพากันออกมาเป็นชุด


แต่ถ้าบอกเนื้อไก่
แต่ถ้าบอกมะเขือ 
แต่ถ้าบอกพริกแกง
แต่ถ้าบอกกะทิ
แต่ถ้าบอกใบโหระพา
แต่ถ้าบอกพริกอ่อน



รับฟังไปก็ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรมากมาย  เพราะมันเป็นของมันอย่างนั้นตามคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งของแต่ละชนิด
พริกแกงก็เผ็ด  กะทิก็มัน  มะเขือก็ขื่น ๆ โหระพาก็มีกลิ่น  เนื้อไก่ก็เป็นอย่างนั้น พริกอ่อนก็เผ็ด

ฟังแล้วก็ไม่ทำให้เกิดความหิวขึ้นมาได้ ... แต่ถ้ารวมกันแล้วกลายเป็น...แกงเขียวหวานไก่  กลับทำให้เกิดอยากทานได้เหมือนกัน


เพราะสัญญาที่รับรู้มา  มันปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกพอใจ  เพราะชอบทานแกงเขียวหวานไก่นั่นเอง
แต่จะเข้าใจได้หรือไม่ว่า...แกงเขียวหวานไก่...มันไม่ได้มีอยู่จริง  มันเป็นการรวมกันของวัตถุปัจจัยทั้งหลาย  แล้วปรุงแต่งไป  จนกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  แล้วสมมุติให้มันชื่อนี้

ระบบได้แยกแยะให้ฟังว่า 
มนุษย์ชอบติดอยู่กับสมมุติภาษา  สมมุติว่าอะไรก็จะจดจำ  แล้วก็มีความสุข  ความทุกข์กับสมมุตินั้นอย่างแยกไม่ออก

ดังนั้น  จึงได้อธิบายว่า  ....
  แกงเขียวหวานไก่  เป็นการสมมุติขึ้นเพราะเหตุใด ?
แกงเขียวหวานไก่   มีวัตถุดิบอะไรบ้าง ให้บอกมา

เนื้อไก่ มะเขือ  พริกแกงเขียวหวาน กะทิ  พริกอ่อน ใบโหระพา 

ทุกอย่างใส่แยกไว้คนละจาน

ดูนะนี่อะไร  เนื้อไก่  นี่อะไร  กะทิ  นี่อะไร มะเขือ นี่อะไร  พริกอ่อน....

จากนั้นตั้งไฟ...แล้วเอาทุกอย่างใส่ลงไปในหม้อ  ตามขั้นตอน  วิธีการปรุงใส่เครื่องปรุงส่วนผสมเช่น น้ำปลา น้ำตาล

พักหนึ่งยกลงจากเตาไฟ  เปิดหม้อออกมา  กลิ่นหอมฉุย  สีสันสวยงาม  ถามว่า

นี่อะไร  ?
แกงเขียวหวานไก่

ไม่ใช่...ไม่ใช่  นี่อะไร? แกงเขียวหวานไก่
ไม่ใช่  ไม่ใช่แกงเขียวหวานไก่

แกงเขียวหวานไก่ไม่มี...นี่อะไร...?


เอาใหม่นะ   แยก ๆ  ทุกอย่างออกมา  แล้วดูกันใหม่ 

นี่อะไร  พริกแกง  นี่อะไร  กะทิ  นี่อะไร เนื้อไก่ .....

ดูนะ  เอาทั้งหมดใส่หม้อรวมกัน ตั้งไฟ  เสร็จแล้วยกลง 

นี่อะไร  แกงเขียวหวานไก่

ไม่ใช่   ....   แกงเขียวหวานไก่   มีที่ไหน 

นี่พริกแกง นี่มะเขือ นี่กะทิ  นี่พริกอ่อน  นี่เนื้อไก่ นี่ใบโหระพา  แล้วไหนล่ะแกงเขียวหวานไก่

ชี้ไปตรงไหนก็ปะทะ มะเขือ  ชี้ไปตรงไหน ก็ปะทะเนื้อไก่ ชี้ไปตรงไหนก็ปะทะกะทิ  ชี้ไปตรงไหนก็ปะทะพริกแกง 

ไม่เห็นมีแกงเขียวหวานไก่   แกงเขียวหวานไก่...ไม่มีจริง
แกงเขียวหวานไก่เพิ่งเกิดขึ้น  เพิ่งสมมุติขึ้นเดี๋ยวนี้เอง

เมื่อสักครู่นี้ยังไม่มีแกงเขียวหวานไก่เลย


มีแต่สิ่งที่นำมาปรุงแต่งรวมกัน ผสานกับความร้อน  จนเกิดการแปรสภาพจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

แล้วสมมุติให้มันชื่อ  แกงเขียวหวานไก่  ....  เท่านั้นเอง

มีวัตถุดิบต่าง ๆ มารวมกัน  มีความร้อน  จนเกิดการคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน

เป็นการปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย  จนเกิดเป็นแกงเขียวหวานไก่ขึ้นมา

โดยความเป็นตัวตนของแกงเขียวหวานไก่  ไม่มีจริง ไม่มีตัวตนจริง ๆ มีแต่การสมมุติตามลักษณะอย่างนี้  รสชาดอย่างนี้  สมมุติให้ชื่อแบบนี้

อยู่ที่ใครเป็นคนที่สมมุติให้ชื่อนี้...เป็นคนแรก 

จากนั้น  คนต่อ ๆ มาก็จดจำ  บันทึกเอาไว้  แล้วสุข  ทุกข์  กับแกงเขียวหวานไก่...ได้เหมือนกัน

คนที่ชอบ  ได้ยินก็พอใจ  เป็นสุข
คนไม่ชอบ ได้ยินก็ไม่พอใจ เป็นทุกข์
 


นี่คือการปรุงแต่งขึ้นมาเห็น ๆ  แล้วสมมุติให้มันเป็นชื่อนั้น  ชื่อนี้  ทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่ได้มีอยู่จริงตั้งแต่ทีแรก 
มีเพียงคนในภูมิภาคนั้น ๆ ในประเทศนั้น ๆ ในความเข้าใจของภาษานั้น ๆ รับรู้ในสมมุติเดียวกัน  จึงบันทึกไว้เหมือนกัน  และมีความพอใจ  ไม่พอใจในสิ่งที่สมมุตินั้นเหมือนกัน

แต่ถ้าคนประเทศอื่น  เขามาเห็น  เขาก็ไม่มีสุข  มีทุกข์กับแกงเขียวหวานไก่  เพราะเขาไม่เคยบันทึกไว้ เขาก็ไม่รับรู้  ไม่เกิดความพอใจ ไม่พอใจ  เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้รสชาดว่ามันเป็นยังไงนั่นเอง

แกงเขียวหวานไก่  จึงไม่มีอิทธิพลกับคนเหล่านั้น
นี่คือสมมุติ  ใครสมมุติให้สิ่งไหน เรียกอะไร  ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้มีอยู่จริงตามนั้น

มันเป็นของมันอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ  สิ่งนี้  รวมกับสิ่งนี้  รวมกับสิ่งนี้  แล้วมีกระบวนการปรุงแต่ง ก็เลยออกมาเป็นรูปแบบเช่นนี้

แล้วแต่ใครจะเรียกมันว่าอะไร  จะสมมุติมันเป็นชื่อแบบไหน  แกงเขียวหวานไก่  แกงเผ็ดไก่  ผัดพริกไก่  มันก็ยังคงเป็นของมันแบบนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเรียกว่ามันว่าอะไร มันขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยที่มารวมกันแล้วออกมาเป็นอย่างนั้นนั่นเอง


แป้ง - น้ำ  ผสมกันปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ  น้ำตาล  กะทิ  น้ำ  รวมกัน  ใช้กระบวนการความร้อน  ก็กลายเป็นขนมบัวลอย

ขนมบัวลอยมาจากไหน 

ขนมบัวลอยเพิ่งเกิดมาใหม่  หลังจากนำสิ่งทั้งหลายมาปรุงแต่งรวมกัน
แล้วสมมุติว่าหน้าตาอย่างนั้น...ควรชื่อ บัวลอย


ก็คงไม่ต่างไปจากที่ธรรมะได้เคยอ่านมา   ได้เปรียบเทียบไว้ว่า 

รถยนต์ไม่ได้มีจริง
เป็นโดยสมมุติ...ว่าสิ่งที่วิ่งได้นี้เรียกว่า  รถยนต์

แต่ถ้าแยกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วก็จะเห็นว่า  ไม่ได้มีรถยนต์อยู่เลย
รถยนต์  เป็นการสมมุติขึ้นมา  เพื่อให้เข้าใจตรงกัน 

เป็นการนำเอาสิ่งสมมุติต่าง ๆ มารวมกัน  ประกอบกัน  แล้วเรียกสิ่งนั้นว่ารถยนต์

เมื่อแยกออกก็ไม่มีรถยนต์ ชี้ไปที่สิ่งใดก็เป็นประตู  เป็นตัวถัง  เป็นเครื่องยนต์  เป็นพวงมาลัย  เป็นกระจก  เป็นหม้อน้ำ เป็นแบตเตอร์  เป็นท่อไอเสีย ....

แล้วส่วนไหนที่เรียกว่า  ...  รถยนต์

ไม่มีรถยนต์  มีแต่การประกอบกันของสิ่งต่าง ๆ  รวมกันเข้าไว้  แล้วมีกระบวนการขับเคลื่อนได้  จึงสมมุติให้ชื่อว่า  รถยนต์
รถยนต์...จึงไม่ได้มีอยู่จริง

ดังนั้น  การสมมุติใด ๆ ก็ไม่อาจเปลี่ยแปลงธรรมชาติได้    เพราะธรรมชาติก็เป็นอยู่อย่างนั้น  ไม่ว่าใครจะเรียกอะไร 

อยู่กับสมมุติ  แต่อย่าไปยึดติดในสมมุติ  เพราะจะทำให้เราสุข เราทุกข์  กับสิ่งสมมุตินั้น ๆ

เช่น  ถ้ามีใครเอ่ยคำว่าโง่  ออกมา  แล้วมองหน้าเรา


เราจะตีความหมายทันที  ตามที่เคยบันทึกไว้  ตามความหมายของคำว่า...โง่
แสดงว่าเขาว่าเรา  หาว่าเราไม่ฉลาด  เราไม่ทันคน  เราพูดไม่รู้เรื่อง  เรา......
คำว่า.....โง่ .... คำเดียว  เราแปลความหมายไปได้ตั้งมากมาย  แล้วก็นำไปทุกข์เสียหลายวัน
ความจริงแล้ว  เพราะเราเข้าใจภาษา  เข้าใจว่าแปลว่าอะไร  จึงนำความหมายนั้นมาทาบกับตัวเรา

ถ้าไปว่า  คนฝรั่งโง่  เขาอาจยิ้มให้  เพราะเขาไม่เข้าใจความหมายนั่นเอง

แต่จริง ๆ แล้ว  ใครจะคิดอย่างไร  ใครจะเข้าใจอย่างไร  เราก็ยังเป็นของเราอยู่อย่างนี้  ไม่ได้ขึ้นกับอะไร

อยู่ที่ว่าใครมองมุมไหนเท่านั้น


คนที่จบปริญาเอก  ก็อาจคิดว่าคนจบปริญญาตรี...โง่...กว่า 

คนจบปริญญาตรี  ก็อาจคิดว่า  คนจบมัธยม  โง่  กว่า

คนจบ มัธยม  ก็อาจคิดว่า  คนจบ ป.4 โง่  กว่า

คนจบ ป.4 ก็อาจคิดว่า  คนไม่ได้เรียนหนังสือโง่กว่า  อ่านไม่ออก

ซึ่งจริง ๆ แล้ว  คำว่า  โง่  ไม่ได้มีอยู่จริงในธรรมชาติ 
อยู่ที่ว่าใครจะสมมุติให้คนนั้น ๆ เป็น... จากมุมมองไหนเท่านั้น


จึงไม่ควรไปร้อนรน  กระวนกระวาย  เสียอกเสียใจ  ที่เขาว่าเราโง่
เพราะนั่นเป็นมุมมองของเขา  ไม่ได้เกี่ยวกับเราที่เป็นอยู่
หากเขาจะทุกข์เพราะคิดว่าเราโง่  เขาก็ต้องทุกข์เอง  แล้วก็ต้องดับทุกข์เอาเอง


คำว่า  เก่ง  ฉลาด  ก็ไม่มีจริง
เด็กหัดพูด  เรียกพ่อ แม่ได้  ก็เก่ง  ก็ฉลาดแล้ว
เด็กเข้าอนุบาล  ร้องเพลงได้  บวกเลขได้  ก็เก่ง  ก็ฉลาดแล้ว

แล้วจะไปยึดอะไร  กับคำสมมุติเหล่านั้น

คนที่คนทั่วไปเห็นว่าดี  แต่คนที่มีอคติ ก็ย่อมมีมุมมองแตกต่างออกไป  ว่าเลว  ว่าไม่ดี
หรือคนที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ดี  แต่ก็จะมีคนที่นิยมยกย่องอีกมากมาย

อยู่ที่ว่าใครจะมองมุมไหน  ใครจะชื่นชอบอย่างไร
แต่คนคนนั้น  ก็ยังเป็นคน ๆ นั้นอยู่นั่นเอง  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะคิดอย่างไร


ถ้าเข้าใจ  เขาจะสมมุติให้เราเป็นอะไร  ก็สมมุติกันไปเถอะ 
อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย   แค่คำพูด  แค่ภาษา

เขามองเราจากมุมไหน  เขาก็ย่อมคิดไปในมุมนั้น
แต่มิได้หมายความว่า เราจะเป็นอย่างนั้นตามที่เขามอง
เพราะแม้แต่ขันธ์ 5  ที่ยืน  เดิน นั่ง  นอนอยู่นี้  ก็ยังเป็นสมมุติอยู่ดี
ยังต้องเพียรละ  เพียรวาง  เพียรพิจารณาให้เห็นว่า  นี่ไม่ใช่ตัวเรา  ไม่ใช่ของเรา
เป็นเพียงการรวมของดิน น้ำ ลม ไฟ  ปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยจนคล้ายกับมีตัวตน ของตนขึ้นมา
สิ่งนี้ควรให้ความสำคัญ  และหมั่นพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงเสียที
ถ้าอยู่เหนือสมมุติได้  สิ่งทั้งหลายก็จะเป็นความว่างในทันที...เพื่อหลุดพ้นจาก....โลกสมมุติใบนี้นั่นเอง 

(จบ)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น